กองโรคติดต่อทั่วไป
Responsive image

ไข้หวัดนก (Avian Flu (Bird Flu))

ไข้หวัดนก (Avian Influenza) (other Influenza, ICD-10 J09)

กลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

3 ธันวาคม 2563

 

เชื้อก่อโรคและแหล่งรังโรค

โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza)  เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza A virus) พบในสัตว์ปีก (poutry) เชื้อประกอบด้วย Hemagglutinin (HA) และ Neuraminidase (NA) อยู่ที่บริเวณผิวด้านนอกของไวรัส ใช้ในการแกสายพันธุ์ โดยปัจจุบันค้นพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกกว่าร้อยสายพันธุ์ ซึ่งพบสายพันธุ์ย่อยมากกว่าที่พบในคน สายพันธุ์ที่พบรายงานการเกิดโรคในคนได้แก่ H5N1, H7N2, H7N3, H9N2, H10N7 และ H7N9 เป็นต้น อนึ่งสายพันธุ์ย่อย A(H5N1) และ A(H7N9) เป็นสายพันธุ์ที่พบว่าสามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงในคนได้ (Highly Pathogenic Avian Influenza หรือ HPAI)

โรคไข้หวัดนก มีนกน้ำ ในธรรมชาติเป็นรังโรค และทำให้เกิดโรคในสัตว์ปีกที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น นกน้ำป่า นกเป็ดน้ำ ห่าน นกตามป่าชายเลน พบว่าเชื้อสายพันธุ์ย่อย ชนิด A(H5N1)  เมื่อสัตว์ปีกเหล่านี้ติดเชื้อจะเกิดอาการค่อนข้างน้อยหรือไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่โรคให้กับสัตว์ปีกอื่นๆที่เลี้ยงใกล้ชิดกับคนหรือเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคได้ เช่น เป็ด ไก่ ไก่งวง เป็นต้น รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ หมู ปลาวาฬ (whale) สิงโตทะเล (seal)  ม้า พังพอน (ferrets) แมว สุนัข และเสือ  อย่างไรก็ดี การติดเชื้อจากสัตว์มายังคน พบคนติดเชื้อจากสัตว์ปีก แต่ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

 

ลักษณะและอาการของโรค

               เมื่อสัตว์มีอาการป่วย จะแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกผ่านออกมาทางน้ำมูก น้ำลาย และมูลสัตว์ เมื่อคนไปสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ป่วย อาจจะได้รับเชื้อดังกล่าวติดมากับมือและสามารถเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของจมูกและตาได้ หรือเมื่อสัตว์มีการกระพือปีก คนก็สามารถติดโรคโดยการสูดหายใจนำละอองของไวรัสเข้าไปในปอดได้เช่นกัน และเนื่องจากคนไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว ส่วนใหญ่จึงเกิดอาการรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงการแพร่เชื้อไข้หวัดนกจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนปกติ มีโอกาสเกิดได้น้อย เนื่องจากมีรายงานพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่อยู่ในคนมักจะไม่คงตัว และมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อต่อไปให้บุคคลอื่นได้น้อย

             ระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งมีอาการ (Incubation period) ส่วนใหญ่ไม่เกิน 7 วัน ในเชื้อไข้หวัดนก A(H5N1) อยู่ที่ประมาณ 2-5 วัน และอาจยาวนานได้ถึง 17 วัน ส่วนในเชื้อ A(H7N9) อยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยมีอาการได้ในช่วง 1-10 วัน ผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกมีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการรุนแรง แต่ส่วนใหญ่จะเกิดอาการปอดบวมรุนแรงมากกว่า โดยมีอาการที่พบบ่อยในระยะเริ่มต้นของการป่วย ได้แก่ ไข้สูง (ส่วนใหญ่สูงกว่า 38 องสาเซลเซียส) ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว และมีอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หายใจลำบาก และมักพบปอดบวมที่ไม่แสดงอาการ แต่พบได้จากเอ็กซเรย์ปอด โดยอาการเจ็บคอ และอาการไข้หวัด พบได้บางครั้ง อาการทางระบบทางเดินอาหาร พบในผู้ป่วยที่รายงานจากประเทศไทย และเวียดนาม เมื่อปี 2547 แต่หลังจากปี 2548 พบได้ลดลง ในผู้ที่มีอาการรุนแรงปอดจะติดเชื้อหลังจากมีอาการ และต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน โดยเฉลี่ย 4 วัน ไม่ว่าจากตัวไวรัสไข้หวัดใหญ่เองหรือติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็ได้ และอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว จนกระทั่งเสียชีวิตได้ในที่สุด ซึ่งพบผู้ที่เสียชีวิต หลังจากมีอาการ 9 – 10 วัน อัตราป่วยตายจากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย ชนิด A(H5N1) เป็น ร้อยละ 60

               การวินิจฉัยอาศัยจากอาการ ประวัติการสัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือตาย การตรวจร่างกาย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งมักพบ เม็ดเลือดขาวทั้งหมด และชนิดลิมโฟซัยต์ ต่ำ รวมทั้งเกล็ดเลือดต่ำ โดยการส่งตรวจหาสารพันธุกรรม viral ribonucleic acid (RNA) หรือตรวจดูภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดนก โดยอาจเปรียบเทียบระดับที่เพิ่มขึ้นของภูมิคุ้มกัน ในช่วงที่เริ่มมีอาการ กับระยะต่อมา ซึ่งมีชุดตรวจคัดกรองหลายชนิดใช้ช่วยในการวินิจฉัยและรักษาเบื้องต้นเท่านั้น อย่างไรก็ดีการวินิจฉัยยืนยันทางห้องปฏิบัติการต้องใช้วิธีการเพาะเชื้อและวิธีการตรวจมาตรฐานอื่น ๆ ที่ได้รับการรับรอง เช่น RT- PCR (Real Time – Polymerase Chain Reaction) ซึ่งในประเทศไทยสามารถส่งตรวจได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข

การรักษาคือการให้ยาต้านไวรัสเหมือนยาที่ให้ในไข้หวัดใหญ่ทั่วไป โดยให้ยา Oseltamivir  แต่ควรระวังการเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งสามารถพบได้บ่อย และมีอาการรุนแรง ไม่ควรให้ยาสเตียรอยด์ รวมทั้งควรหาสาเหตุของการติดเชื้อ ค้นหาผู้สัมผัส และผู้มีประวัติเสี่ยง โดยอาจให้ยาป้องกันการป่วยหลังสัมผัส (postexposure prophylaxis) ให้ยา Oseltamivir 75 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 5 วัน ร่วมกับการกักกันแบบสมัครใจ และวัดอุณหภูมิตนเองทุกวัน เพื่อทราบว่าป่วยอย่างเร็วที่สุด รวมทั้งค้นหาแหล่งโรค ได้แก่ สัตว์ป่วย สิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนเชื้อ ตลอดจนการระบาดในสัตว์ปีก เป็นต้น เพื่อสามารถดำเนินการควบคุมและป้องกันโรค ทั้งในคน และสัตว์ได้อย่างทันเวลา ตลอดจนป้องกันการระบาดในวงกว้าง

 

 

กลุ่มนักท่องเที่ยวเสี่ยงและประเทศที่มีโอกาสพบเจอโรค

โรคไข้หวัดนกเกิดการระบาดเป็นครั้งคราวมาหลายครั้ง ในปี 2539 มีการค้นพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดรุนแรงสายพันธุ์ A(H5N1) เป็นครั้งแรก โดยพบในห่านจากประเทศจีน หลังจากนั้นจึงพบการติดเชื้อในคนเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2540 โดยพบการระบาดในจีนและฮ่องกง ต่อมาในปี 2546 เกิดการแพร่ระบาดกระจายในสัตว์ปีกเป็นวงกว้าง โดยเริ่มจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง ทำให้สัตว์ปีกจำนวนหลายล้านตัวล้มตาย และเกิดการติดเชื้อในคนรวมถึงมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนี้เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ A(H5N1) กลายเป็นเชื้อประจำถิ่นทั้งในเขต ยูเรเซีย (Eurasia ปัจจุบันเรียกว่าทวีปยุโรป และเอเชีย)  แอฟริกา (Africa) และ ตะวันออกกลาง (Middle East)  ในปี 2548 เกิดการระบาดของสายพันธุ์ A(H5N1) ในนกอพยพ และแพร่ระบาดในนกตลอด มองโกเลีย รัสเซีย และหลายประเทศในยุโรป  ในปี 2556 พบไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ A(H7N9) ในประเทศจีน ไต้หวัน และฮ่องกง

ปัจจุบันมี 6 ประเทศที่พบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ A(H5N1) กลายเป็นเชื้อประจำถิ่นในประเทศนั้นๆ ได้แก่ จีน บังคลาเทศ อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม สำหรับการรายงานการพบโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ A(H5N1) ในคน ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan) บังคลาเทศ กัมพูชา จีน จิบูตี (Djibouti) อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก ส.ป.ป.ลาว พม่า ไนจีเรีย ปากีสถาน ไทย ตุรกี และเวียดนามเป็นต้น สำหรับสายพันธุ์ที่มี H7 เป็นส่วนประกอบ พบรายงานผู้ป่วยที่สอดคล้องกับการระบาดของเชื้อในสัตว์ปีก ได้แก่ H7N3 ในแคนาดา อิตาลี  อังกฤษ และเม็กซิโก H7N2 ในสหรัฐ และอังกฤษ H7N7 ในอังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ H7N9 จีน เป็นต้น ดังนั้นโรคไข้หวัดนกจึงมีโอกาสแพร่ระบาดมาสู่นักเดินทาง ซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้ป่วยด้วย ไข้หวัดนกสายพันธุ์ A(H5N1) ส่วนใหญ่อายุ 18 ปี และร้อยละ 90 พบในคนอายุตั้งแต่และต่ำกว่า 40 ปี  ดังนั้นหากมีข่าวการระบาดเกิดขึ้นทั้งในคน และสัตว์ นักเดินทาง และท่องเที่ยวควรตรวจสอบจุดที่เกิดการระบาดก่อนการเดินทาง และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง เช่น คนทำงานในฟาร์มสัตว์ปีก  หรือ อุตสาหกรรมอาหารจากสัตว์ปีก บ้านชนบทที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีก ตลอดจน สัตว์ปีกหากไม่จำเป็น

 

วิธีการดูแลป้องกันตนเอง

               ถ้านักท่องเที่ยวจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนก ควรปฏิบัติดังนี้

  • หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ ควรสวมเครื่องป้องกันร่างกายอย่างมิดชิด เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ แว่นตา หมวก รองเท้าบู๊ต
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆด้วยน้ำสบู่ และทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์
  • หากพบสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบทันที พร้อมทั้งสังเกตอาการของตนเองอย่างใกล้ชิด
  • ทานอาหาร ที่ปรุงสุก สะอาด ถ้าเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ปีกในช่วงที่มีการระบาด
  • ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย มาปรุงอาหารโดยเด็ดขาด
  • ขณะหรือหลังกลับจากการเดินทาง มีอาการที่ผิดปกติ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หอบเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมกับแจ้งประวัติการเดินทางและการสัมผัสสัตว์อย่างละเอียด

 

               ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนสำหรับใช้ป้องกันโรคไข้หวัดนก A(H5N1) สำเร็จแล้ว แต่การศึกษาในมนุษย์ยังมีค่อนข้างจำกัด รวมถึงยังไม่มีการฉีดป้องกันสำหรับบุคคลทั่วไป และจำกัดการใช้เฉพาะบุคลากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเมื่อมีการระบาดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในบุคคลทั่วไป ที่จะช่วยไม่ให้เกิดการผสมสายพันธุ์กันของโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ในตัวคน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงได้

 

ภาพแสดงรูปแบบการติดเชื้อไข้หวัดนกในมนุษย์ (CDC, 2019)

 

เอกสารอ้างอิง

Centers for Disease Control and Prevention, Information on Avian Influenza. [Internet]. 2019
[cited 2 June 2020]. Available from:  https://www.cdc.gov/flu/avianflu/index.htm

Center for Food Security and Public Health, Avian Influenza. [Internet]. 2010 [cited 2 June 2020]. Available from:  http://www.cfsph.iastate.edu/DiseaseInfo/disease.php?name=avian-influenza&lang=th

National Institute of Heatlh, Ministry of Public Health, Avian Influenza Surveillance System. [Internet]. 2014 [cited 2 June 2020]. Available from:  http://nih.dmsc.moph.go.th/
data/data/fact_sheet/3_58.pdf

World health organization, Influenza (Avian and other zoonotic). [Internet]. 2018 [cited 2 June 2020]. Available from:  https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/influenza-(avian-and-other-zoonotic)

American Public Health Association. Avain Influenzae. In Heymann DL ed.  Control of Communicable Diseases Manual (20th edition). Washington: United Book Press, Inc; 2015. p. 313 – 22.

click for download