กองโรคติดต่อทั่วไป
Responsive image

ชากาส (Chagas disease)

โรคชากาส (American Trypanosomiasis) (ICD–10 B57)

กลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

3 ธันวาคม 2563

 

เชื้อก่อโรคและแหล่งรังโรค

โรคชากาส (Chagas disease) หรือ American Trypanosomiasis เกิดจากปรสิตที่มีชื่อว่า Trypanosoma cruzi  มีพาหะนำโรคคือ มวนดูดเลือด (มวนเพชฌฆาต) ที่ชื่อว่า Triatomine bugs หรือ kissing bugs ซึ่งใช้ปากสำหรับดูดเลือดสัตว์หรือมนุษย์ สาเหตุที่ได้ชื่อว่า kissing bugs เนื่องจากมวนชนิดนี้ ชอบกัดบริเวณใบหน้า เมื่อถูกมวนดูดเลือดชนิดนี้กัด มวนจะขับปัสสาวะหรืออุจจาระที่มีปรสิต Trypanosoma cruzi ซึ่งผ่านเข้าไปที่แผลหรือเข้าไปทางเยื่อบุตาและปาก ทำให้เกิดการติดปรสิตขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถได้รับปรสิตจากอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อน การได้รับบริจาคเลือดหรืออวัยวะ รวมไปถึงการติดเชื้อปรสิตจากรกแม่ไปสู่ลูกได้ ทำให้เกิดการติดปรสิตแต่กำเนิด

ตัวมวนซึ่งเป็นพาหะนำโรคชากาส (American Trypanosomiasis) มักอาศัยอยู่ตามบ้านที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น บ้านที่ทำจากดินโคลน มีหลังคามุงด้วยใบไม้ เช่น ใบจากหรือใบปาล์ม โดยในเวลากลางวัน ตัวมวนจะซ่อนอยู่รอยแตกของผนังดินโคลน หรือใต้หลังคา ส่วนในเวลากลางคืนตัวมวนจะออกหาอาหารด้วยการดูดเลือด คน และสัตว์ทั้งที่เป็นสัตว์ป่า และสัตว์เลี้ยง อีกมากกว่า 150 ชนิด ที่เป็นแหล่งรังโรคของมวนดูดเลือดเหล่านี้  เช่น หนู แรคคูน กระรอก สุนัข เริ่มจากการที่มวนดูดเลือดไปกัดสัตว์หรือคนที่มีปรสิตโรคชากาส ปรสิตจะเกิดการฟักตัวในตัวมวน ประมาณ 10 ถึง 30 วัน หลังจากนั้นเมื่อมวนไปดูดเลือดคนปกติ ก็จะปล่อยปรสิตออกมาทางอุจจาระและปัสสาวะ ทำให้คนๆนั้นติดปรสิตโรคชากาสได้ ปรสิตอยู่ในลำไส้ของมวนได้ตลอดชีวิต (ประมาณ 2 ปี)

ชื่อโรคชากาส ตั้งตามชื่อของ Carlos Justiniano Chagas แพทย์ชาวบราซิลผู้ซึ่งค้นพบโรคนี้ในมนุษย์ครั้งแรกในเด็กหญิงอายุ 2 ปี เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1909 ทางองค์การอนามัยโลก จึงกำหนดให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันชากาสโลก (World Chagas Disease Day)

 

ลักษณะและอาการของโรค

             ผู้ที่ได้รับปรสิตส่วนใหญ่อาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มักเกิดอาการรุนแรง เมื่อเชื้อมวนดูดเลือดกัด และปรสิตเข้าสู่กระแสเลือด ปรสิตจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 5 – 14 วัน แต่ถ้าได้รับปรสิตจากการให้เลือด จะมีอาการ 30 ถึง 40 วัน หลังได้รับปรสิต ทั้งนี้ อาการหลังติดปรสิตแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะเริ่มแรก (acute phase) มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมน้ำเหลืองโต เกิดผื่นตามตัว ตับและม้ามโต (hepatosplenomegaly) ในผู้ป่วยบางราย (น้อยกว่า 50%) อาจพบว่าบริเวณที่ถูกมวนกัดหรือบริเวณที่ได้รับปรสิตเกิดอาการบวม (chagoma) ซึ่งอาจพบได้ถึง 8 สัปดาห์ โดยเฉพาะบริเวณตา ซึ่งตัวมวนมักจะชอบกัดบริเวณใบหน้า และถ่ายอุจจาระขณะผู้ติดปรสิตนอนหลับ เมื่อเกิดอาการคันบริเวณที่ถูกกัด มืออาจจะไปป้ายถูกอุจจาระของตัวมวน และนำอุจจาระที่ปนเปื้อนปรสิตไปป้ายบริเวณรอบดวงตา เกิดการติดปรสิตและทำให้เกิดตาบวม (Romaña sign) ซึ่งมักพบข้างเดียว และเป็นลักษณะเด่นของโรคนี้

               นอกจากนี้ ปรสิต Trypanosoma cruzi ยังสามารถไปเพิ่มจำนวนในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) และเกิดความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง (meningoencephalitis) หากไม่ได้รับการรักษา ปรสิตจะยังคงอยู่ในร่างกายได้หลายสิบปีหรือตลอดชีวิต และทำให้เกิดการติดเชื้อแบบเรื้อรัง (chronic phase) โดยคนส่วนใหญ่ที่ติดปรสิตมักจะไม่มีอาการ มีเพียง 20-30% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยไปทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ เมื่อตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะพบการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติไป พบอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia) กล้ามเนื้อหัวใจโต (cardiomegaly) และเกิดหัวใจวาย (heart failure) ได้ นอกจากนี้ ปรสิตยังเพิ่มจำนวนในเซลล์ทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหาร และลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการหนาตัวและขยายขนาดของลำไส้ (megaesophagus and megacolon) ซึ่งพบมากในผู้ป่วยตอนกลางของประเทศบราซิล แต่พบน้อยใน ตอนเหนือของเอกวาดอร์ และประเทศทางตอนใต้ ทำให้การทานอาหารและการขับถ่ายผิดปกติไป

การวินิจฉัยอาศัยจากประวัติ การตรวจร่างกาย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในรายที่สงสัยการติดปรสิตโรคชากาสในระยะเริ่มแรกสามารถตรวจหาตัวปรสิตภายใต้กล้องจุลทรรศน์ โดยส่งตรวจจากเลือด (thick and thin blood smear) ทั้งนี้การตรวจหาตัวปรสิตในระยะเริ่มแรก สามารถส่งตรวจได้ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แต่ในระยะเรื้อรัง อาจจะต้องส่งตรวจดูภูมิคุ้มกัน (Antibody) ซึ่งไม่สามารถตรวจได้ในประเทศไทย

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคชากาสยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งขนาดยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคนี้จะแบ่งตามกลุ่มอายุ ใช้ระยะเวลารักษานานประมาณ 2-3 เดือน และมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ซึ่งแพทย์ต้องประเมินความเสี่ยง รวมไปถึงการพิจารณาข้อดี-ข้อเสียของการใช้ยาแต่ละตัว

 

กลุ่มนักท่องเที่ยวเสี่ยงและประเทศที่มีโอกาสพบเจอโรค

ประมาณการผู้ที่ติดปรสิตนี้ประมาณ 8 ล้านรายทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 10,000 ราย โรคนี้จะพบเฉพาะ Western Hemisphere กระจายจากชนบทของเม็กซิโก ไปจนถึงตอนกลาง และตอนใต้ของทวีปอเมริกา พบการรายงานของโรคมากที่สุดในประเทศกลุ่มลาตินอเมริกา (เช่น เม็กซิโก สาธารณรัฐโดมินิกัน เฮติ อาร์เจนตินา โบลิเวีย ชิลี เอกวาดอร์ บราซิล เป็นต้น) ซึ่งแต่เดิมโรคนี้เกิดเฉพาะในชนบทของทวีปอเมริกากลางและใต้ แต่ปัจจุบันพบการรายงานของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในเขตเมือง นอกจากนี้ยังพบในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ประเทศในทวีปยุโรป กลุ่มเมดิเตอร์เรเนียนทางฝั่งตะวันออก เช่น ไซปรัส กรีซ อัลแบเนีย ตุรกี อียิปต์ จอร์แดน ประเทศในกลุ่มแปซิฟิกตะวันตก เช่น ออสเตรเลีย บรูไน และบางประเทศในทวีปแอฟริกา

 

วิธีการดูแลป้องกันตนเอง

การปรับเปลี่ยนลักษณะของบ้าน ไม่ใช้ดินในการสร้างบ้าน รวมไปถึงการตัดต้นปาล์มบริเวณใกล้บ้าน เพื่อลดที่อยู่ของมวนดูดเลือด โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยาสำหรับป้องกันโรค นักท่องเที่ยวควรเรียนรู้วิธีการป้องกันและดูแลตนเอง โดยการป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ การป้องกันการถูกตัวมวนกัด  โดยเลือกสวมเสื้อผ้าสีอ่อน ควรนอนในมุ้งกันยุงและแมลง และฉีดยาป้องกันที่มีส่วนผสมของ DEET (N,N-Diethyl-meta-toluamide) ความเข้มข้น 20-50% หรือ Picaridin ความเข้มข้น 5-20% โดยทาให้ทั่วบริเวณผิวหนังที่โผล่พ้นเสื้อผ้าออกมา ทุกๆ 4 ชั่วโมง หรือตามฉลากที่เขียนข้างขวด รวมไปถึงการใช้ 0.5% Permethrin ชุบมุ้งหรือเสื้อผ้าที่สวมใส่

หากต้องได้รับเลือด ผลิตภัณฑ์จากเลือด หรือจำเป็นต้องปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ประเทศเหล่านั้นมักจะมีระบบการตรวจคัดกรองการติดเชื้อในเลือดหรืออวัยวะก่อนนำมาใช้กับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีความน่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ หากมีอาการผิดปกติหลังกลับจากการเดินทาง เช่น  มีไข้ ปวดศีรษะ ตาบวม มีความผิดปกติทางระบบหัวใจ และระบบประสาทต่างๆตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยที่ไม่สามารถหาสาเหตุอื่นได้ โดยเฉพาะถ้ามีประวัติการเดินทางไปในแถบลาตินอเมริกา ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

แผนที่แสดงประเทศที่มีการรายงานของโรคชากาส (WHO, 2018)

เอกสารอ้างอิง

Centers for Disease Control and Prevention (Chagas Disease). [Internet]. 2019. [cited on 8 June 2020]. Available from:  https://www.cdc.gov/
parasites/chagas/index.html.

World health organization, American Trypanosomiasis (Chagas Disease). [Internet].
2020. [cited on 8 June 2020]. Available from: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/chagas-disease-(american-trypanosomiasis).

World health organization, Global distribution of Chagas Disease. [Internet]. 2018.
[cited on 8 June 2020]. Available from: https://www.who.int/docs/default-source/ntds/chagas-disease/chagas-2018-cases.pdf?sfvrsn=f4e94b3b_2.

American Public Health Association. American Typanosomiasis. In Heymann DL ed.  Control of Communicable Diseases Manual (20th edition). Washington: United Book Press, Inc; 2015. p. 633 – 37.