กองโรคติดต่อทั่วไป
Responsive image

ไข้เลือดออก (Dengue)

ไข้เลือดออก (Dengue Fever และ Dengue Hemorrhagic Fever) (ICD 10 A90, A91)

กลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

3 ธันวาคม 2563

 

เชื้อก่อโรคและแหล่งรังโรค

โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อ Dengue virus (DENV) ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อยทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, -2, -3, และ -4 ทุกสายพันธ์เป็นสาเหตุของไข้เลือดออก และทำให้มีอาการรุนแรงได้ เมื่อติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ ที่เป็นสาเหตุ ภูมิคุ้มกันอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน แต่ไม่ช่วยป้องกันการป่วยจากสายพันธุ์อื่น อาการรุนแรงเกิดจากการที่มีการติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์ชนิดอื่น ในคนที่มีภูมิคุ้มกันที่แตกต่างจากสายพันธุ์ดังกล่าว และขึ้นกับความรุนแรงของสายพันธุ์แต่ละชนิด ซึ่งพบว่าสายพันธุ์ที่สอง ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคมากที่สุด

เชื้อไวรัสเดงกี่เจริญเติบโตในยุงลาย (Aedes spp.) ทั้งยุงลายบ้าน(Aedes aegypti) ที่เป็นพาหะหลัก และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะรอง ในพื้นที่ที่มีไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น รังโรคของเชื้อ DENV จะอยู่ในคน และยุงลาย ทั้งคนที่มีอาการและไม่อาการ นอกจากนี้เชื้อ DENV ยังอยู่ในสัตว์ป่าจำพวกลิง นอกจากโรคไข้เลือดออกแล้ว ยุงลายยังสามารถนำโรคซิก้าและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนย่า) ได้อีกด้วย ยุงลายจะกัดเวลากลางวัน โดยจะกัดมากที่สุดหลังพระอาทิตย์ขึ้น 2 ชั่วโมง และกัดได้ตลอดวัน ยุงลายจะชอบวางไข่ตามแหล่งน้ำขังต่างๆ เช่น แจกัน ที่รองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์ เป็นต้น ดังนั้น จึงควรระวังอย่าให้เกิดน้ำขัง เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ และป้องกันการเกิดโรคต่างๆที่มากับยุงลายบ้าน

 

ลักษณะและอาการของโรค

             เชื้อไข้เลือดออกจะส่งผ่านมาทางยุงลาย เริ่มจากการที่ยุงลายไปกัดคนที่มีเชื้อไข้เลือดออกในช่วงที่มี DENV ในกระแสเลือด คือก่อนมีอาการไข้ประมาณ 5 – 6 วัน จนกระทั่งไข้ลง 5 – 6 วัน เช่นกันแล้วเชื้อมีการฟักตัวในยุงลาย 8 – 12 วัน หลังพ้นระยะฟักตัวในยุงลาย ยุงลายจะมีเชื้อ DENV และแพร่เชื้อได้ตลอดชีวิต  หลังจากนั้นเมื่อยุงไปกัดคนปกติ ก็จะทำให้คนๆนั้นติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้  อนึ่งการได้รับเลือด อวัยวะที่มีเชื้อ DENV การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก พบได้โดยเฉพาะถ้ามารดาป่วยในช่วงขณะคลอดบุตร นอกจากนี้พบว่าทารกที่คลอดจากแม่ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก และติดเชื้อในช่วง 6 – 12 เดือนมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการวิกฤต เพราะภูมิคุ้มกัน (IgG) จากแม่ผ่านรกมาสู่ลูก สามในสี่ของผู้ที่ติดเชื้อไข้เลือดออกมักไม่มีอาการ มีเพียงหนึ่งในสี่ของผู้ติดเชื้อทั้งเด็ก และผู้ใหญ่เท่านั้นที่แสดงอาการ หลังจากได้รับเชื้อ 3 – 14 วัน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่แสดงอาการภายใน 4 – 7 วัน

               อาการของโรคไข้เลือดออก มีตั้งแต่อาการน้อย ปานกลาง รุนแรง จนถึงเสียชีวิต ซึ่งมีรูปแบบเป็น ช่วงที่มีไข้ (Febrile) วิกฤต (Critical) และ ระยะหาย (Convalescent)  ไข้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ลักษณะเป็นไข้สูงลอย ประมาณ 2 ถึง 7 วัน ร่วมกับอาการ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีผื่นแดง เนื่องจากโรคนี้ทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายต่ำลง ดังนั้นจะทำให้มีเลือดออกได้ง่าย เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล อาจพบคอหอยแดง และหน้าแดง ในช่วง 24 – 48 ชั่วโมงแรก รายที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่อาการวิกฤต ช่วงที่ไข้ลง จะยังมีอาการอาเจียน ปวดท้อง หายใจลำบาก มีอาการช๊อค ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น และ เกล็ดเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว

การวินิจฉัยอาศัยจากประวัติ การตรวจร่างกาย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในวันแรกๆที่ติดเชื้อ อาการอาจจะไม่ชัดเจน และผลการตรวจเลือดโดยทั่วไปอาจมีค่าที่ปกติหรือผิดปกติเพียงเล็กน้อยได้ ดังนั้นถ้ามีไข้สูงอย่างต่อเนื่อง ควรตรวจซ้ำในวันที่ 3-4 ของการเป็นไข้ อาการที่รุนแรงต่างๆมักในช่วงที่ไข้ลง ซึ่งเป็นจุดเด่นของโรคนี้ที่ไม่เหมือนกับโรคอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยอาจจะคิดว่าตนเองหายดีแล้ว และไม่เห็นความสำคัญของการมาพบแพทย์ ดังนั้น หากมีเลือดออกหรืออาการอื่นใดที่ผิดปกติตามหลังการเป็นไข้ ควรเข้ารับการตรวจโดยทันที เพราะอาจมีอาการวิกฤตได้

               หากมีอาการวิกฤต ซึ่งส่วนใหญ่มีระยะเวลาประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง  และเกิดขึ้นหลังจากไข้ลดลงทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ ในระยะแรกร่างกายจะปรับตัว ทำให้ระยะห่างของความดันโลหิตเมื่อหัวใจ บีบ และคลายตัวลดลง  อย่างไรก็ดีถ้าความดันโลหิตลดลงมาก จากการที่ของเหลวในร่างกายไปอยู่ในปอด หรือ ช่องท้อง ตลอดจนมีภาวะช๊อคเป็นระยะเวลานาน อาจมีเลือดออกในอวัยวะสำคัญ เช่น ช่องท้องหรือสมองได้ โดยเฉพาะถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ยิ่งทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ไตวาย ระบบหัวใจและการหายใจล้มเหลว และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด ซึ่งผู้ที่มีอาการวิกฤตมักจะเกิดในผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ติดเชื้ออาจไม่ทราบว่าเคยติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการมาก่อน ผู้ป่วยที่ผ่านภาวะวิกฤตจะเข้าสู่ระยะหาย ในระยะนี้ของเหลวที่อยู่ในอวัยวะต่าง ๆ จะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือด ความเข้มข้นของเลือดจะปกติ หรือต่ำกว่าปกติ เม็ดเลือดขาวจะเพิ่มจำนวนขึ้น เกล็ดเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ระยะนี้อาจพบผื่นแดงทั่วตัว แต่มีวงขาวบางส่วน ผู้ป่วยบางรายอาจคันบริเวณผื่น

               การยืนยันการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทำได้โดยตรวจหาเชื้อ DENV ในช่วงตั้งแต่มีไข้  จนถึง 7 วัน โดยอาจใช้วิธี Reverse Transcriptase Polymerase Chain Reaction (RT-PCR) ซึ่งตรวจพบได้สูงกว่าการเพาะเชื้อ และยังสามารถบอกสายพันธุ์ได้ หรือตรวจหาภูมิคุ้มกันชนิด IgM ซึ่งเริ่มตรวจพบได้ตั้งแต่วันที่ 3 หลังจากมีไข้ แต่ส่วนใหญ่ตรวจพบหลังจากมีไข้  6 – 7 วัน ภูมิคุ้มกันชนิดนี้ระบุได้ว่าเป็นการติดเชื้อ DENV ในครั้งนี้ ส่วนการตรวจหาภูมิคุ้มกันชนิด IgG ไม่ค่อยมีประโยชน์ในการวินิจฉัย เพราะคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่มีไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น มักตรวจพบภูมิคุ้มกันชนิดนี้

               การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคจากผู้ป่วย คือ ต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด เพื่อป้องกันการถูกยุงลายกัด  อนึ่งไม่มียาที่ใช้สำหรับรักษาโรคไข้เลือดออกอย่างจำเพาะ เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น จิบน้ำเกลือแร่บ่อยๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ เช็ดตัวลดไข้ และสามารถทานยาลดไข้ได้หากมีไข้สูง ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดและลดการอักเสบที่ออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร (กลุ่ม NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) รวมทั้งยาแอสไพริน (acetylsalicylic acid) เนื่องจากจะทำให้เลือดออกได้ง่ายมากขึ้น เฝ้าสังเกตอาการที่ทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มเข้าสู่ระยะวิกฤต ซึ่งการตรวจจับว่าผู้ป่วยเข้าสู่ระยะวิกฤตอย่างรวดเร็ว และรักษาอย่างถูกต้องจะลดอัตราป่วยตายจาก ร้อยละ 10 เป็น ร้อยละ 1

 

กลุ่มนักท่องเที่ยวเสี่ยงและประเทศที่มีโอกาสพบเจอโรค

โรคไข้เลือดออกสามารถพบเจอได้ในหลายทวีปที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น เช่น ในทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา ทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงโอเชียเนีย และหมู่เกาะในทะเลแปซิฟิก ทั้งในเขตเมือง และชนบท ในพื้นที่ที่มีไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งมักมีสายพันธุ์ชนิดหนึ่งอยู่เป็นประจำ และอาจมีสายพันธุ์ชนิดอื่นในบางปี ทำให้พบผู้ป่วยได้ตลอดปี แต่มักพบสูงขึ้นมากในช่วงฤดูฝน เพราะความชุกชุมของยุงลายเพิ่มมากขึ้น และพบการระบาดได้ ทุก 2 – 5 ปี นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในพื้นที่ที่ไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น มีโอกาสติดเชื้อสูง พบว่าไข้เลือดออกเป็นสาเหตุสำคัญของการมีไข้ในนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวใน ทวีปอเมริกาใต้ แคริบเบียน เอเชียใต้ กลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศไทยมีการระบาดของไข้เลือดออกทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ซึ่งทำให้เกิดแหล่งน้ำขังและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ข้อมูลจากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมในปี 2563 จำนวน 14,136 ราย เสียชีวิต 11 ราย (อัตราป่วยตาย 0.8%) คิดเป็นอัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 21.32 รายต่อแสนประชากร โดยพบจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสามอันดับแรกตามลำดับ ดังนี้ ชัยภูมิ แม่ฮ่องสอน และขอนแก่น โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อไข้เลือดออกเป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 5-14 ปี คิดเป็นอัตราป่วย 67.68 รายต่อแสนประชากรในช่วงอายุนั้นๆ

 

วิธีการดูแลป้องกันตนเอง

ในผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออก หลังจากหายดีแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออกไปอีกประมาณ  1 ปี หลังจากนั้น ภูมิคุ้มกันจะค่อยๆลดลง ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับไข้เลือดออก โดยผู้ที่มีอายุระหว่าง 9-45 ปี และไม่มีข้อห้ามของการฉีดวัคซีน แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกที่ประมาณ 1 ปี โดยวัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนเชื้อเป็น ขนาด 0.5 ml ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม (0, 6, 12 เดือน) พบว่าสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดไข้เลือดออกรุนแรงภายในเวลา 5 ปีได้ โดยผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนและได้รับการฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม จะมีโอกาสเกิดโรคน้อยกว่า 1 ต่อ 1,000 คนที่ฉีดวัคซีน เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีโอกาสเกิดโรค 4.8 ต่อ 1,000 คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกมาก่อน หรือประวัติไม่แน่ชัด ไม่แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีน เนื่องจากมีรายงานพบว่า สามารถเพิ่มโอกาสการนอนโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกและเพิ่มโอกาสการเป็นไข้เลือดออกที่รุนแรงได้

เนื่องจากประเทศไทยเองมีโอกาสพบเจอโรคไข้เลือดออกได้มาก นักท่องเที่ยวควรเรียนรู้วิธีการป้องกันและดูแลตนเอง แม้กระทั่งในช่วงที่ไม่ได้เดินทางก็ตาม การป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ การป้องกันการถูกยุงกัด  โดยเลือกสวมเสื้อผ้าแขนขายาว สวมเสื้อผ้าสีอ่อน นอนในมุ้งกันยุงและแมลง และฉีดยาป้องกันยุงที่มีส่วนผสมของ DEET (N,N-Diethyl-meta-toluamide) ความเข้มข้น 20-50% หรือ Picaridin ความเข้มข้น 5-20% โดยทาให้ทั่วบริเวณผิวหนังที่โผล่พ้นเสื้อผ้าออกมา ทุกๆ 4 ชั่วโมง หรือตามฉลากที่เขียนข้างขวด หากมีอาการผิดปกติ เช่น  มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระบอกตา เลือดออกผิดปกติ โดยที่ไม่สามารถหาสาเหตุอื่นได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มียุงลายชุกชุม ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

ปี 2552 องค์การอนามัยโลกให้นิยามไข้เลือดออกว่า เป็นโรคที่มีความหลากหลายของอาการ และอาการแสดง และมักจะไม่สามารถคาดเดาความรุนแรงของอาการ ตลอดจนผลของการรักษาได้ สำหรับแพทย์ เมื่อให้การรักษานักท่องเที่ยวที่มารับการรักษาด้วยอาการไข้ และมีประวัติเดินทาง หรือพักอาศัยในพื้นที่ที่มีไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น ร่วมกับมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 อาการ (คลื่นไส้/อาเจียน  ผื่น  ปวดตามร่างกาย ตรวจพบจุดเลือดออกโดย Tourniquet test และเม็ดเลือดขาวต่ำ) ให้สงสัยไข้เลือดออก อนึ่งเมื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมทั้งผลการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ แล้วพบ อาการปวดท้อง อาเจียนอย่างต่อเนื่อง มีอาการบวมน้ำ เลือดออก อ่อนแรง เดินเซ ตับมีขนาดใหญ่กว่าปกติ 2 เซนติดเมตร และตรวจพบความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit) เพิ่มขึ้น และเกล็ดเลือดต่ำ แม้ไม่มีไข้ ให้สงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก  และต้องรีบรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาด

Map of countries where dengue has been reported. See tables below.

แผนที่แสดงประเทศที่มีความเสี่ยงของไข้เลือดออก (CDC, 2020)

 

เอกสารอ้างอิง

Centers for Disease Control and Prevention, Dengue. [Internet]. 2020 [cited 29 May 2020]. Available from:  https://www.cdc.gov/dengue/index.html.

World health organization, Dengue and severe dengue. [Internet]. 2020 [cited 29 May 2020]. Available from:  https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/dengue-and-severe-dengue.

Ministry of Public Health (Vector Borne Diseases Division), Dengue infection. [Internet]. 2020 [cited 30 May 2020]. Available from:  https://drive.google.com/file/d/1l5UJvygUpgQf8rm1dW-JxwCjsG0mhh1n/view.

Pediatric Infectious Disease Society of Thailand, Recommendaton on Dengvaxia vaccine. [Internet]. 2017 [cited 30 May 2020]. Available from:  https://www.pidst.or.th/A655.html.

American Public Health Association. Dengue. In Heymann DL ed.  Control of Communicable Diseases Manual (20th edition). Washington: United Book Press, Inc; 2015. p. 144 – 50.

click for download