กองโรคติดต่อทั่วไป
Responsive image

คำแนะนำการเตรียมความพร้อมเพื่อการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 สำหรับผู้เดินทางในประเทศไทย (กรณีผู้เดินทางไทยที่เข้ารับการกักตัวในสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนด และบุคคลทั่วไปที่มีความประสงค์เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ)

คำแนะนำการเตรียมความพร้อมเพื่อการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19
สำหรับผู้เดินทางในประเทศไทย

 

กลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ

กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

18 กุมภาพันธ์ 2564

 

         หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และ (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้บุคคล 11 ประเภทเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ประกอบกับมาตรการจัดแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์การระบาดในประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และให้การเดินทางบรรลุตามวัตถุประสงค์ปลอดโรคและปลอดภัย ผู้เดินทางที่มาจากต่างประเทศ และผู้ที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งมีความจำเป็นเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

 

1. ขณะอยู่ในสถานที่กักกัน (กรณีผู้เดินทางที่มาจากต่างประเทศ)

          1.1 ผู้เดินทางที่มีโรคประจำตัวและความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น วัณโรค เบาหวาน และความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี หรือโรคหัวใจขาดเลือดที่อาการไม่คงที่ เมื่อต้องเข้ารับการกักกันตัวในห้องพักคนเดียว  ควรแจ้งปัญหาสุขภาพให้เจ้าพนักงานควบคุมโรครับทราบ หากเกิดภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เช่น น้ำตาล  ในเลือดต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หมดสติ หรือภาวะเส้นเลือดสมองอุดตันทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลัน เจ้าหน้าที่จะได้วางแผนเตรียมความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

          1.2 ปฏิบัติตนตามข้อกำหนดของสถานที่กักกันอย่างเคร่งครัด เช่น

                1) เข้ารับการกักกันตัวให้ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด

                2) งดพบปะญาติจนกว่าจะพ้นระยะกักกัน หากมีการฝากของเยี่ยมควรเป็นของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นเท่านั้น และหลีกเลี่ยงของฝากประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากผู้ที่อยู่ในระหว่างการควบคุมโรค  ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด ซึ่งสถานที่กักกันได้มีบริการไว้ให้แล้ว

                3) ไม่ออกนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ หากมีความจำเป็นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประสานงาน

                4) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยตนเองภายในห้องพัก และรายงานอุณหภูมิพร้อมอาการมายังเจ้าหน้าที่ตามช่องทางที่กำหนด

                5) สังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ   มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก การรับรสชาติผิดปกติ ครั่นเนื้อครั่นตัว หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลในพื้นที่ทันที และสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา โดยห้ามออกจากห้องจนกว่าจะได้รับอนุญาต

                 6) ล้างมือด้วยนํ้าสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป ทุกครั้งหลังไอ จาม ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องนํ้า

                 7) ซักล้างทำความสะอาดเสื้อผ้าตนเองทุกวัน หรือนำเสื้อผ้ามาใส่ถังที่จัดไว้หน้าห้องเพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ซักล้าง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของสถานที่กักกันแต่ละแห่ง

                 8) ทิ้งขยะมูลฝอยในถังขยะติดเชื้อที่จัดไว้ให้หน้าห้อง

                 9) ทำความสะอาดภายในห้องพักด้วยตนเอง และนำขยะมูลฝอยทิ้งในถังขยะติดเชื้อที่จัดเตรียมไว้ให้

                 10) ไม่บ้วนนํ้าลาย เสมหะ สั่งนํ้ามูกลงบนพื้น

                 11) ไม่ดื่มสุรา หรือเสพของมึนเมาในสถานที่กักกัน

          1.3 เมื่ออยู่ในสถานที่กักกัน จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด 19 โดยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 3 - 5 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 11 – 13 ของระยะเวลาที่ถูกกักกัน

2. หลังออกจากสถานที่กักกัน และเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย

ผู้เดินทางที่มาจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 รวม 3 ครั้ง แล้วก็ตาม (ก่อนเดินทาง 1 ครั้ง และระหว่างอยู่ในสถานกักกัน 2 ครั้ง) เมื่อออกจากสถานกักกัน ท่านยังมีความเสี่ยง ติดเชื้อโควิด 19 เมื่อเข้าสู่พื้นที่ชุมชน และสำหรับผู้ที่อยู่ในประเทศไทยมีความประสงค์จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้น จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและปฏิบัติตามมาตรการ/คำแนะนำในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ดังต่อไปนี้

         2.1 ตรวจสอบสถานการณ์ในจังหวัดที่จะเดินทางไปหรือจังหวัดที่เดินทางผ่าน ซึ่งมีมาตรการควบคุม แบบบูรณาการที่จำเป็นแตกต่างกันตามพื้นที่สถานการณ์ (ข้อมูล ณ 18 กุมภาพันธ์ 2564) ได้แก่         

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
  • พื้นที่ควบคุม
  • พื้นที่เฝ้าระวังสูง
  • พื้นที่เฝ้าระวัง

                 ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดมาตรการในแต่ละพื้นที่ได้จากเฟสบุ๊ค “ศูนย์ข้อมูล COVID-19” ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.)

          2.2 งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดเว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น

          2.3 เตรียมความพร้อมด้านเวลาการเดินทางให้ยืดหยุ่น จัดเตรียมอุปกรณ์ในการป้องกันตนเอง  ส่วนบุคคลให้เพียงพอตลอดการเดินทางท่องเที่ยว และเตรียมวิธีการสื่อสารกับหน่วยงานสาธารณสุขและครอบครัวในกรณีฉุกเฉิน

          2.4 ผู้เดินทางจะต้องตระหนักในการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเต็มความสามารถ ตามคำแนะนำ ต่อไปนี้

                1) ปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล D-M-H-T-T ได้แก่

                    - Distancing (D) หมายถึง เว้นระยะระหว่างกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น

                    - Mask wearing (M) หมายถึง สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เมื่อออกจากที่พัก หรือขณะอยู่ร่วมกับผู้อื่น

                    - Hand washing (H) หมายถึง เน้นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังการเข้าห้องน้ำ และหลังจากการไอจาม

                    - Testing (T) หมายถึง ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และตรวจหาเชื้อโควิด 19 (เฉพาะกรณี)

                    - Thai Cha na (T) หมายถึง ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ

                2) เลือกใช้บริการแหล่งท่องเที่ยว ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า หรือรถสาธารณะที่มีความปลอดภัย ผ่านการรับรองมาตรฐานของสถานประกอบการที่ปลอดภัย (Safety and Health Administration : SHA)

                3) เมื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในชุมชน ให้สแกน QR code ไทยชนะ หรือลงทะเบียน  การเข้าออกสถานที่ตามจุดที่กำหนด เพื่อประโยชน์ในการติดตามผู้สัมผัสกรณีมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงปฏิบัติตนตามกฎระเบียบของสถานที่นั้น

                4) หมั่นสังเกตอาการตนเองระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก  จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งอาการเจ็บป่วยและประวัติการเดินทางโดยละเอียด

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ