สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เผยการสัมผัสสารเคมี อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวหนังอักเสบ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยการสัมผัสสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดๆ ก็อันตรายต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวหนังอักเสบ ภูมิคุ้มกันลดลง หากมีแผลเปิดก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้เช่นกัน อาทิ โรคเนื้อเน่า เป็นต้น พร้อมแนะประชาชนให้ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลขึ้น โดยเฉพาะบริเวณขาหรือเท้า แต่ถ้ามีบาดแผลขอให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ และดูแลรักษาความสะอาดอย่างใกล้ชิด หากแผลลุกลามให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

            วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2562) นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับโรคเนื้อเน่า ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าโรคเนื้อเน่าเกิดจากสาเหตุใด นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า โรคเนื้อเน่า หรือเรียกว่า เนคโครไทซิ่ง แฟสเชียไอติส (Necrotizing  fasciitis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในแผล โดยมีการติดเชื้อบริเวณผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง โรคนี้พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ตำแหน่งที่เกิดมากสุดคือที่บริเวณขาหรือเท้า มักพบในผู้ที่มีบาดแผลเล็กๆน้อยๆ แล้วสัมผัสกับแบคทีเรียที่อยู่ในดินหรือในน้ำ และอาจดูแลแผลไม่ดี จนแผลลุกลาม ทำให้แผลติดเชื้อแทรกซ้อนได้

           ส่วนการที่เชื้อโรคจะไปก่อโรคได้นั้น ต้องมีการแยก/เปิดของผิวหนังหรือเกิดเป็นแผลในร่างกายนั่นเอง โดยเกิดมาจากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุต่างๆ มีดบาด หนามเกี่ยว แมลงหรือยุงกัดแล้วเกา และการสัมผัสสารเคมีต่างๆ รวมถึงยาฆ่าหญ้า เป็นต้น สำหรับโรคเนื้อเน่า เมื่อเชื้อโรคที่พบในดินในน้ำทั่วๆไปเข้าไปในแผล จะทำให้เกิดการอักเสบ และอาจลุกลามไปในชั้นลึกของผิวหนัง รายที่รุนแรงอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะไตวาย ช็อค และอาจเสียชีวิตได้     ที่สำคัญหากมาพบแพทย์ช้า เมื่อมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกแล้ว จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น

           นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า ในการป้องกันโรคเนื้อเน่า ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลขึ้น โดยเฉพาะบริเวณขาหรือเท้า แต่หากมีบาดแผลขอให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ และทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และใส่ยาฆ่าเชื้อ ระวังอย่าให้มีสิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผล และควรไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ถ้าปวดบริเวณแผล บวม ร้อน แดงมากขึ้น แผลลุกลาม หรือมีไข้ร่วมด้วย อาจเกิดการติดเชื้อได้ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา ซึ่งโรคเนื้อเน่าสามารถรักษาได้

           สำหรับการใช้สารเคมีในทางเกษตรกรรม นั้น มีผลกระทบต่อประชากรกลุ่มเสี่ยงหลักคือ ผู้ฉีดพ่นสารเคมีดังกล่าว และผู้ทำงานในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งส่วนมากเป็นเพศชาย โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณและช่องทางการสัมผัส ทั้งทางการหายใจ ทางการรับประทาน และทางผิวหนังหรือเนื้อเยื้ออ่อน ในกรณีที่สัมผัสสารเคมีทางผิวหนัง เช่น พาราควอต ทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวหนังอักเสบ ภูมิคุ้มกันลดลง และเอื้อต่อการติดเชื้อแบคทีเรียตามมาได้

           โดยข้อมูลจากการสอบสวนโรคในผู้ป่วยสงสัยพิษจากสารกำจัดวัชพืชจำนวนหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน นั้น พบว่าสาเหตุที่เจ็บป่วยจากการสัมผัสสารกำจัดวัชพืชเกิดจากการทำงานทั้งงานประจำและงานอดิเรก และเจ็บป่วยที่เกิดจากอุบัติเหตุนอกงาน ได้แก่ ดื่มผิดเพราะเข้าใจผิด หกรดร่างกายจากการเข้าไปห้ามการดื่มสาร  ตั้งใจดื่มเอง และอุบัติเหตุเข้าตาจากการปนเปื้อนสารที่มือ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยยังขาดความรู้ในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ การดูแลตนเองหลังการสัมผัสสารกำจัดวัชพืช เนื่องจากการเจ็บป่วยเกิดจากการปนเปื้อนที่มือก่อนและไม่ได้ล้างทำความสะอาดมือที่เปื้อนแล้วไปขยี้ตาจึงเกิดอาการตามัวมองเห็นไม่ชัดตามมา  ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

*******************************************************

ข้อมูลจาก : กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562


ข่าวสารอื่นๆ