สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค ย้ำ “การกักตัวเอง” เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยควบคุมสถานการณ์การแพร่กระจายของโรคโควิด-19

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ “การกักตัวเอง” ของผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่สามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรค เพื่อให้ผู้ที่กักตัวไม่เป็นทั้งผู้แพร่เชื้อและผู้รับเชื้อ ซึ่งจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยได้

          วันนี้ (7 เมษายน 2563) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทย มีจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร พร้อมทั้งออกมาตรการที่เข้มข้น และขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่บ้าน เพื่อลดการสัมผัสเชื้อ ส่วนผู้ที่เข้าข่ายต้องกักตัวเอง หลักๆมีอยู่ 2 กลุ่มคือ 1.ผู้ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง และ 2.ผู้เดินทางมาจากเขตติดโรคติดต่ออันตรายทุกคน ผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่องหรือพื้นที่พบผู้ป่วย กรมควบคุมโรค จึงขอย้ำว่า “การกักตัวเอง” เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งประชาชนจะได้ไม่เป็นทั้งผู้แพร่เชื้อและผู้รับเชื้อ

          การกักตัวเอง จะใช้เวลาประมาณ 14 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข้อมูล “How to...คุมไว้สังเกต ณ ที่พักอาศัยและแนวทางปฏิบัติ” เพื่อให้ผู้ที่ต้องกักตัวเองปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ป่วยและผู้สูงอายุ 2.หยุดเรียนหรือทำงาน รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ 3.ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชู่ทุกครั้งที่ไอ จาม หากไม่มีกระดาษทิชชู่ ให้ใช้ต้นแขนด้านในหรือข้อศอกตัวเองแทนสิ่งสำคัญคือห้ามไอจามใส่ฝ่ามือตัวเอง 4.ห้ามทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น รวมถึงควรแยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ เป็นต้น 5.สวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร 6.แยกห้องนอน 7.ทำความสะอาดที่พักและของใช้ 8.ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และสุดท้าย 9.ทิ้งหน้ากากอนามัยหรือกระดาษทิชชู่ที่ใช้แล้วให้ถูกวิธี โดยทิ้งในถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิท มิดชิดก่อนทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิดและล้างมือด้วยสบู่และน้ำนานประมาณ 15-20 วินาที หรือแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไปทันที

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากกักตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำด้วยก็คือ การสังเกตอาการตัวเอง โดยการวัดอุณหภูมิร่างกายของตัวเองและจดบันทึกไว้เป็นประจำทุกวัน หากมีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส มีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหอบ หรือมีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรพบแพทย์ทันที และแจ้งให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทราบ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

*********************************

ข้อมูลจาก : ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค

วันที่ 7 เมษายน 2563


ข่าวสารอื่นๆ