สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค ร่วมกับเครือข่าย เปิดเวที DDC Forum “อุบัติเหตุทางถนน ยุค New Normal”

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดเวทีเสวนาวิชาการ DDC Forum  “อุบัติเหตุทางถนน ยุค New Normal” พบว่าในช่วงโควิด 19 ส่งผลในหลายๆ ด้านของการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด และลดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท

          เช้าวันนี้ (26 พฤษภาคม 2563)  ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  พร้อมด้วยนายจุมพฎ  วรรณฉัตรสิริ  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ  นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน  ดร.สุเมธ องกิตติกุล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  และนายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน  ร่วมแถลงข่าวในเวทีเสวนาวิชาการดีดีซี ฟอรั่ม (DDC Forum) เรื่อง “อุบัติเหตุทางถนน ยุค New Normal”

           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่กำลังประสบอยู่อีกอย่างหนึ่งที่ไม่ด้อยไปกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 คือ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ที่ยังคงเกิดขึ้นในช่วง ม.ค.–มี.ค. 63 ที่มีผู้เสียชีวิต 4,924 คน เฉลี่ยประมาณ 55 คนต่อวัน ผู้บาดเจ็บ 277,141 คน โดยเป็นผู้บาดเจ็บหนักที่ต้องนอนโรงพยาบาล 44,774 คน มีผู้พิการเกิดขึ้นอีกเกือบ 2,060 คน (คิดจาก 4.6% ของผู้ป่วยที่ต้องนอน รพ.) ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลในหลายๆ ด้านของการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ ปี 63 นี้ ที่พบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงจำนวนมากตามที่เคยมีรายงานข่าวไปแล้วนั้น เป็นผลจากการประกาศ พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างจังหวัด จำกัดช่วงเวลาเดินทางออกนอกเคหะสถาน ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุด้วยเช่นกัน

          ในยุคของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 63 จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 595 คน คิดเป็น 10.78% (ปี 63 เสียชีวิต 4,924 คน ปี 62 เสียชีวิต 5,519 คน) และจำนวนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ (ทั้งสาหัสและเล็กน้อย) ลดลง 94,626 คน คิดเป็น 25.45% (ปี 62 บาดเจ็บ 371,767 คน) สามารถลดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท (ปี 62 มีมูลค่าความสูญเสียประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท / ปี 63 มูลค่าความสูญเสียประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท) โดยเฉพาะในเดือน มี.ค.เดือนเดียว ที่เริ่มมีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ทำให้มีปริมาณการเดินทางลดลง การห้ามออกนอกเคหะสถานในช่วงเวลา 4 ทุ่ม–ตี 4 และมีการตั้งด่านความมั่นคง ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 201 คน คิดเป็น 10.85% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 62 เสียชีวิต 1,853 คน) และผู้บาดเจ็บลดลง 64,885 คน คิดเป็น 50.10% (ปี 62 บาดเจ็บ 129,498 คน)

           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า แม้ว่าจำนวนสถานการณ์ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนก็ยังมีความรุนแรงสูง เพราะในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.63) ยังมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 50-58 คน แต่ในหลายพื้นที่ต้องใช้ทรัพยากรไปกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้การทำงานป้องกันอุบัติเหตุมีข้อจำกัด และในช่วงเดือน พ.ค. 63 ที่มีการผ่อนปรนมาตรการให้กับประชาชน ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมีข้อกังวลกับสถานการณ์ที่จะกลับมารุนแรงมากขึ้น เพราะมีบางมาตรการสำคัญที่ช่วยลดทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และลดการเกิดอุบัติเหตุ ได้ถูกผ่อนปรนด้วย เช่น การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในช่วงนี้เข้าฤดูฝน ส่งผลให้ทัศนวิสัยไม่ดี ถนนลื่น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ประกอบกับใกล้เปิดเทอม เด็กนักเรียนไปโรงเรียน การเดินทางโดยรถสาธารณะจะไม่เหมือนเดิมแล้ว ต้องเว้นระยะห่าง ทำให้แต่ละเที่ยวบรรทุกผู้โดยสารได้จำนวนน้อยลง  อาจจะเป็นแรงส่งให้มองหาพาหนะมาใช้เองเพื่อความสะดวกคล่องตัว ทำให้หันมาใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์เพิ่มมากขึ้น ปัญหาอุบัติเหตุอาจเข้าสู่จุดวิกฤติ   ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุสูงขึ้นได้

          นอกจากนี้ อีกมาตรการหนึ่งที่กรมควบคุมโรค แนะนำให้ประชาชนในการป้องกันโรคโควิด 19 โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ นั่นคือ นอกจากจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นปกติอยู่แล้ว ควรที่จะเพิ่มมาตรการป้องกันให้สูงขึ้น โดยการสวมหมวกนิรภัยควบคู่กับการใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่มีการใช้รถจักรยานยนต์ เพราะการสวมหมวกนิรภัยที่มีกระจกป้องกันลม กระจกป้องกันลมดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นหน้ากากพลาสติกคลุมหน้าคล้าย face shield ที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขใช้นั่นเอง ซึ่งนอกจากจะป้องกันอุบัติเหตุเป็นหลักแล้ว ยังสามารถป้องกันเชื้อโรคโควิด 19 ที่ฟุ้งกระจายออกมาจากคนรอบข้างได้ ถือว่าสร้างความปลอดภัยยกกำลัง 2 กล่าวคือ ป้องกันได้ทั้งอุบัติเหตุและโควิด 19 และหลังการสวมใส่หมวกนิรภัยทั้งของตัวผู้ขับขี่และคนซ้อนท้ายแล้ว ควรมีการเช็ดและทำความสะอาดหมวกนิรภัยด้วยแอลกอฮอล์หรือเช็ดด้วยน้ำสบู่/น้ำยาล้างมือ หรือนำหมวกนิรภัยไปตากแดดทิ้งเพื่อฆ่าเชื้อโรค 

          กรมควบคุมโรค กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และต้องการสะท้อนให้ประชาชนรับรู้ถึงปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ยังคงมีความรุนแรง เป็นเรื่องที่คนไทยต้องช่วยกันเหมือนกับที่คนไทยช่วยกันต่อสู้กับโรคโควิด 19 และปรับวิถีชีวิตที่เคยทำมา โดยทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคสังคม และประชาชน ต้องร่วมมือร่วมใจกันหาทางออก สู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ให้มีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนควบคู่ไปกับการป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวด้วย

*******************************************

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค

วันที่ 26 พฤษภาคม 2563


ข่าวสารอื่นๆ