สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

ประวัติศาสตร์ครั้งแรก MOU การจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจัดสรร (อสบ.) จ.นครราชสีมา

          วันนี้ (6 สิงหาคม 2563) ที่โรงแรมเฮอร์มิเทจ โฮเต็ล แอนด์รีสอร์ท จังหวันครราชสีมา  นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจัดสรร (อสบ.) ในการจัดการโรคและภัยสุขภาพ เพื่อประชาชนเขตเมืองมีสุขภาพดี โดยมีนายสุขสันต์ จิตติมณี รองผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กล่าวรายงานว่า อสบ.ในเขตเมืองนครราชสีมา จะดูแลด้านสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้านจัดสรรได้อย่างใกล้ชิด และครอบคลุมประชาชนในหมู่บ้านจัดสรรพื้นที่เขตเมืองเป็นการนำร่อง มีการอบรมจำนวน 3 รุ่นๆ ละ 1 วันและวันละ 150 คน ระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม 2563 รวมประมาณ 450 คน โดยได้รับพัฒนาศักยภาพอสบ. ในการจัดการโรคและภัยสุขภาพในหมู่บ้านจัดสรร (uVilleCare) ทั้งโรคเรื้อรัง ภาวะฉุกเฉิน และการรับบริการวัคซีน และให้คำปรึกษา โดยนวัตกรรมที่อสบ. เก็บข้อมูลสุขภาพ เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลที่เข้าบริการ ด้วยเทคโนโลยี ผ่านสมาร์ทโฟน

          นายแพทย์สำเริง กล่าวว่า ในวันนี้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานโครงการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจัดสรร (อสบ.) ในจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างนายแพทย์กิตติ์พงศ์ สัญชาตวิรุฬห์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จ.นครราชสีมา นายอดุลย์ ขมิ้นเขียว ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 9  นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา  นายแพทย์ชุติเดช    ตาบองครักษ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และนายแพทย์จิรศักดิ์ วิจักขณาลัญฉ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา อันเป็นการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการโรคและภัยสุขภาพในหมู่บ้านจัดสรร ลดความเหลื่อมล้ำด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในลักษณะประชากรเฉพาะเขตเมืองของผู้พักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรร โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้พักอาศัย นิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชน มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนที่พักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรร จึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจัดสรร (อสบ.) ในจังหวัดนครราชสีมา

         สำหรับการลงนาม MOU ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพของชุมชนเขตเมือง โดยอาสาสมัครสาธารณสุขจิตอาสาในชุมชน พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในเขตเมือง โดยการดำเนินงานนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา จำนวน 200 แห่ง

           นายแพทย์สำเริง กล่าวอีกว่า เพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ จึงได้มีการกำหนดข้อตกลงว่าจะร่วมมือกันภายใต้หลักการสำคัญของความร่วมมือ ดังนี้  1.พัฒนารูปแบบการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขจิตอาสาในหมู่บ้านจัดสรรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการป้องกันควบคุมโรค พื้นที่เขตเมือง  2.พัฒนาชุดข้อมูลสุขภาพและกลไกการบริหารจัดการโรคและภัยสุขภาพในหมู่บ้านจัดสรร โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำข้อมูลมาใช้วางแผนและแก้ไขปัญหาสุขภาพ  3.เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค รวมถึงการดูแลสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนในหมู่บ้านจัดสรรเขตเมือง ตามแผนการบริการทางสุขภาพ (Service plan) อย่างเหมาะสม  4.สนับสนุนการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชนในหมู่บ้านจัดสรร เพื่อดูแลสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาวะและการป้องกันควบคุมโรคที่เหมาะสมยั่งยืน  5.ประสานความร่วมมือด้านวิชาการ ฐานข้อมูล มาตรฐาน เทคโนโลยี และการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขจิตอาสา เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการโรคและภัยสุขภาพในหมู่บ้านจัดสรร  6.สนับสนุนการบริหารจัดการโรคและภัยสุขภาพในหมู่บ้านจัดสรร ตามแผนงานโครงการที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกันให้สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด  และ 7.ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบทางราชการอย่างเคร่งครัด

**************************************************

ข้อมูลจาก : สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค

วันที่ 6 สิงหาคม 2563


ข่าวสารอื่นๆ