สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เตือนช่วงหน้าหนาวนี้ ระวังป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”

            กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในช่วงหน้าหนาวนี้ ขอให้ระวังอาจป่วยด้วยโรคติดต่อทางเดินอาหารหรือน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง แนะให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการเลือกรับประทานอาหาร โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ผู้ปกครองควรดูแลเรื่องอาหารของเด็กอย่างใกล้ชิด หลังพบว่าผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

          วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันเสี่ยงทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย รวมถึงโรคติดต่อทางเดินอาหารหรือน้ำ ที่มาจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน และการสัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งของที่มีเชื้ออยู่แล้วนำนิ้วเข้าปาก อาจป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงได้

          สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในปี 2563 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 พฤศจิกายน 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 697,290 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มเด็กแรกเกิด–5 ปี รองลงมาคืออายุมากกว่า 65 ปี และอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ ช่วงเดือนที่พบผู้ป่วยสูง คือเดือนมกราคม ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จันทบุรี ปราจีนบุรี มหาสารคาม อำนาจเจริญ และสมุทรสงคราม ตามลำดับ

          นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอุจจาระร่วงเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และสารพิษหรือสารเคมี สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ ซึ่งเชื้อที่เป็นสาเหตุและพบได้บ่อย ได้แก่ ไวรัสโรต้า (Rotavirus) และไวรัสโนโร (Norovirus) พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ก่อให้เกิดอาการไข้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียติดต่อกัน 3-5 วัน เนื่องจากเชื้อไวรัสทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหารหรือเยื่อบุลำไส้บางลง ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารลดลง ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำจะมีอาการรุนแรง ริมฝีปากแห้ง ปัสสาวะลดลง ร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา ตาโหล เป็นต้น ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย   ในกลุ่มทารกและเด็กเล็ก อาจทำให้ช็อก หมดสติ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

          สำหรับการรักษาโรคอุจจาระร่วง เป็นการรักษาตามอาการ ป้องกันภาวะขาดน้ำโดยการชดเชยสารน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียออกจากร่างกายด้วยน้ำเกลือแร่ ให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด หากมีอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที  ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยในการเลือกรับประทานอาหาร โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารค้างมื้อต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร และภายหลังขับถ่ายหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ดื่มน้ำสะอาดได้มาตรฐาน หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็ก หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีอาการอุจจาระร่วง ผู้ปกครองควรดูแลเรื่องอาหารของเด็กอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

***************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563


ข่าวสารอื่นๆ