สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ครั้งที่ 6 ชูเรื่องความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายภายในปี 2024

          ประเทศไทยรับมอบเป็นประธานจากประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมทำงานด้านวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (GHSA) โดยชูเรื่องความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการทำงานจากนี้ หวังบรรลุเป้าหมาย GHSA ภายในปี 2024 การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมระดับรัฐมนตรี ผู้บริหาร และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลกกว่า 1 พันคน

           วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2563) ที่โรงเเรม Millenium Hilton กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นายเเพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเอกอัครราชทูตเนเธอร์เเลนด์ประจำประเทศไทย (His Excellency Mr.Kees Rade) พร้อมด้วยนายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ครั้งที่ 6 โดยมีผู้ร่วมประชุมภายในงานและผ่านระบบออนไลน์รวมกว่า 1,000คนทั่วโลก

          ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับมอบเป็นประธานต่อจากประเทศเนเธอร์แลนด์ แสดงให้เห็นว่าไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพมากพอในการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เห็นได้จากไทยได้รับคำชื่นชมจากผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ที่สามารถรับมือและควบคุมสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด 19) ได้เป็นอย่างดี

           ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ทั่วโลกได้รับผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมีการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว สิ่งเรียนรู้สำคัญที่ได้จากการระบาดครั้งนี้ คือ การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ 

          นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า แม้การจัดงานในครั้งนี้จะถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก แต่ยังคงได้รับการตอบรับจากสมาชิกวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (GHSA) เเละประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างกว้างขวาง อันสะท้อนถึงความสัมพันธ์เเละความเเข็งเเกร่งของการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้กับประชาชนทั่วโลกภายในปี 2024 โดยเฉพาะประเด็นการสร้างขีดความสามารถในการป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองต่อการระบาดของโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จหลักที่ผู้นำระดับสูงของประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพโลกได้ให้ความสำคัญ

           การประชุมครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญของทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่จะทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลก และการเตรียมความพร้อมเพื่อตอบโต้ภัยสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำหรือเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตได้อย่างทันท่วงที เเละลดผลกระทบทุกด้านอย่างสมดุลผ่านการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน

*******************************

ข้อมูลจาก : สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563


ข่าวสารอื่นๆ