สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค แนะนักท่องเที่ยวรับลมหนาวสุดสัปดาห์นี้ ระวังถูกตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงโรคไข้รากสาดใหญ่

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนักท่องเที่ยวที่ไปกางเต็นท์นอนในป่าเพื่อรับลมหนาวในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ขอให้ระมัดระวังอาจถูกตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ ข้อมูลปีนี้พบว่าเกือบครึ่งของผู้ป่วยอยู่ในภาคเหนือ วิธีป้องกันคือสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนบนพื้นหญ้า และขอให้เคร่งครัดในมาตรการป้องกันโควิด 19 ด้วย

          วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงนี้จนถึงสุดสัปดาห์ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลงประกอบกับมีลมแรง โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและป่าไม้ ประชาชนมักเดินทางท่องเที่ยวตามป่าเขาและกางเต็นท์นอนเพื่อสัมผัสอากาศหนาว จึงขอเตือนนักท่องเที่ยวที่เดินทางรับลมหนาวและกางเต็นท์นอนในป่า ระวังถูกตัวไรอ่อนกัด อาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ได้

          สถานการณ์ของโรคไข้รากสาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-13 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานพบผู้ป่วย 240 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ภาคเหนือเป็นภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด (106 ราย) ส่วนกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อายุ 45-54 ปี รองลงมาคืออายุ 65 ปีขึ้นไป และอายุ 35-44 ปี ตามลำดับ ซึ่งพบว่าทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่อาจมีการเดินทางท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าว

          “โรคไข้รากสาดใหญ่” หรือ “โรคสครับไทฟัส” (Scrub typhus) เกิดจากการติดเชื้อริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ชนิดหนึ่งจากบาดแผลที่ถูกตัวไรอ่อนซึ่งเป็นพาหะกัด ตัวไรอ่อนจะอาศัยอยู่ตามใบไม้ใบหญ้าใกล้กับพื้นดิน ไรอ่อนจะเกาะตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า โดยปกติจะมองไม่เห็นตัวไรอ่อน เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก บริเวณที่ถูกกัดส่วนใหญ่คือ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว หลังถูกไรอ่อนกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้สูง หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อย ๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น อาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar) แต่จะไม่ปวดและไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ อาจทำให้เสียชีวิตได้

          นายแพทย์โอภาส แนะนำประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวและกางเต็นท์นอนในป่า ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนบนพื้นหญ้า และทาโลชั่นกันยุงที่มีส่วนผสมของสาร DEET หรือใช้สมุนไพรทากันยุงซึ่งสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่หรือตั้งรกรากใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่าหรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาด ด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้ หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต นอกจากนี้ ขอให้นักท่องเที่ยวทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 

 

*******************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564


ข่าวสารอื่นๆ