สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังการซื้อหรือเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหารในช่วงหน้าฝนนี้ อาจเป็นเห็ดพิษ เสี่ยงเสียชีวิตได้

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้ระมัดระวังการซื้อหรือเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหารในช่วงหน้าฝนนี้ หากไม่แน่ใจว่าเป็นเห็ดที่รับประทานได้ ไม่ควรซื้อหรือเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหาร หากเป็นเห็ดที่มีพิษ เมื่อรับประทานเข้าไปอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

            วันนี้ (7 มิถุนายน 2564) นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ในหลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้เห็ดหลายชนิดจะเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งเห็ดป่า มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้ และเห็ดพิษที่ไม่สามารถรับประทานได้ โดยทั่วไปประชาชนมักจะเก็บเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเห็ดที่ขึ้นใกล้ที่พักอาศัย หรือซื้อมารับประทานซึ่งอาจเป็นเห็ดพิษ เนื่องจากเห็ดพิษบางชนิดมีลักษณะคล้ายกับเห็ดที่รับประทานได้ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระยะดอกตูม อาจทำให้เกิดความสับสนและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

          สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–27 พฤษภาคม 2564 พบผู้ป่วย 173 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ มากกว่า 65 ปี รองลงมาคือ 45-54 ปี และ 55-64 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ภูเก็ต ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ ตามลำดับ

          สำหรับเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่า เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน ที่สามารถกินได้แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน และเมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน นอกจากนี้ ยังมีเห็ดถ่านเลือด ที่มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่รับประทานได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้มเมื่อผ่าดอกเห็ดดู มีพิษต่อระบบทางเดินอาหารและกล้ามเนื้อ และทำให้ตับไตวายซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิต รวมถึงเห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า ซึ่งยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น ต้มเห็ดพิษกับข้าวหรือหอมแดงแล้วจะทำให้ข้าวเปลี่ยนสี หรือจุ่มช้อนหรือตะเกียบเงินเครื่องเงินแล้วจะทำให้เงินดำ นั้นไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม ผัด ย่าง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้

          นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหลังกินเห็ด อย่าล้วงคอหรือกินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และการกินไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่ม หรือติดเชื้อได้ ให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดพิษไปด้วย และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้

            กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการซื้อและหลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดป่า อาทิ เห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก และอื่นๆ ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อนหรือดอกตูม ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่มารับประทาน เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอกจะเหมือนกัน ที่สำคัญหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้น หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

******************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 7 มิถุนายน 2564


ข่าวสารอื่นๆ