สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค แนะวิธี “กักตัวในบ้าน” ให้ปลอดภัย หยุดเชื้อโควิดแพร่คนในบ้าน!!

            กรมควบคุมโรค เผยขณะนี้พบผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด 19 มีอัตราติดเชื้อร้อยละ 11.83 แนะผู้ที่มีประวัติอาจสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ควรกักตัวเองที่บ้านหรือที่พักอาศัย 14 วัน เพื่อร่วมกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ โดยเร็วที่สุด สร้างความปลอดภัยให้ตนเองและสมาชิกในบ้าน โดยเน้นให้แยกห้องหรือพื้นที่ แยกทานอาหาร แยกอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว เน้นอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากมีไข้เกิน 37.5 องศา และมีอาการไอ มีน้ำมูก เหนื่อยง่าย  อ่อนเพลีย ท้องเสีย รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรืออสม.ใกล้บ้านทันที

          วันนี้ (23 กรกฎาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทย ยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่แสดงอาการป่วยและไม่แสดงอาการป่วยแต่สามารถแพร่เชื้อติดต่อไปยังคนอื่นได้ ทำให้จำนวนผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อมีมากขึ้นตามไปด้วย ผลจากการดำเนินการสอบสวนเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่หลังจากมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่จากทั่วประเทศจนถึงขณะนี้ พบว่าผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด 19 มีอัตราการติดเชื้อร้อยละ 11.83  ซึ่งยังอยู่ในอัตราที่สูง โดยเชื้อที่เป็นปัญหาหลักของไทยขณะนี้ คือสายพันธุ์เดลตาและอัลฟา ที่ติดต่อกันได้ง่าย ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ 5-8 คน ส่วนเชื้อสายพันธุ์อัลฟาแพร่ได้ 4-5 คน

             นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า มาตรการที่จะสกัดกั้นการแพร่ระบาดให้ยุติโดยเร็วที่สุด เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดการเสียชีวิตและผลกระทบอื่นๆ คือ การป้องกันการติดเชื้อและควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปมากกว่านี้ จะต้องดำเนินการร่วมกันทุกฝ่ายไปในแนวทางเดียวกันอย่างเข้มข้น กรมควบคุมโรคจึงขอความร่วมมือประชาชนที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิดระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวัน ขอให้กักตัวเองที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน เป็นช่วงที่เชื้อฟักตัวเพื่อสังเกตอาการว่าติดเชื้อหรือไม่ สามารถดำเนินการได้ทั้งในบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ อาคารชุด เช่น หอพักคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ต่างๆ ทั้งประเภทอยู่คนเดียว หรืออยู่ร่วมกับครอบครัวหรือพักร่วมกับผู้อื่น สร้างความปลอดภัย ทั้งตนเองและคนในครอบครัว มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้

            1.ให้จัดสถานที่พัก และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้พร้อม เน้นแยกที่พักให้เป็นสัดส่วน เช่นห้องนอน ที่นอน หากแยกไม่ได้ อาจใช้แผ่นกระดาษหรือพลาสติกกั้นห้องเพื่อแบ่งสัดส่วนชั่วคราว เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก แยกของใช้ส่วนตัว แยกห้องน้ำ หากแยกไม่ได้ ให้ใช้เป็นคนสุดท้ายและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์ภายในบ้านด้วยน้ำผสมผงซักฟอก น้ำผสมน้ำยาฟอกขาว หรือแอลกอฮอล์ 70%

             2.เน้นการดูแลอนามัยส่วนบุคคล โดยล้างมือฟอกด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล 70 % ทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกับคนอื่น ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่คลุกคลีกับคนอื่น แยกซักเสื้อผ้าเอง และให้งดการสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงชั่วคราว เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถติดไปกับขนสัตว์ได้เช่น แยกทานอาหาร หากให้ผู้อื่นจัดหาอาหารให้ ควรกำหนดจุดรับอาหารเพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรง กรณีใช้ชักโครก ให้ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ทิ้งขยะในถุงและมัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป

          3.เฝ้าระวังอาการป่วยตนเองระหว่างกักตัว โดยใช้ปรอทตรวจวัดไข้ทุกวัน และสังเกตอาการผิดปกติ หากพบว่ามีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส และมีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ตาแดง จมูกไม่ได้กลิ่นหรือลิ้นไม่รับรส มีผื่นขึ้น ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย อาเจียน ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านหรืออาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) ทันที เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลตามขั้นตอนต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนควบคุมโรค โทร. 1422

 

          ****************

ข้อมูลจาก : ศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉิน /สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 23 กรกฎาคม 2564


ข่าวสารอื่นๆ