สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค ย้ำเตือนประชาชนช่วงหน้าฝนนี้ ระวังป่วยโรคไข้เลือดออก แนะช่วงหยุดอยู่บ้านขอให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนช่วงหน้าฝนนี้ อาจมีน้ำขังตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ทำให้เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ บริเวณรอบตัวบ้าน ที่มีน้ำท่วมขังหลังจากฝนตก โดยถือโอกาสช่วงที่ต้องหยุดอยู่บ้านเนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 สำรวจแหล่งน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมแนะประชาชน เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการปราบยุงลาย “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

          วันนี้ (30 กรกฎาคม 2564) นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งหลังจากฝนหยุดตกอาจมีน้ำขังอยู่ตามเศษภาชนะหรือวัสดุต่างๆ เช่น กล่องโฟม แก้ว ถุงพลาสติก ยางรถยนต์เก่า ถ้วยหรือกะลารองน้ำยางดิบ ใบไม้ขนาดใหญ่ที่ร่วงลงบนพื้นดิน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จึงขอความร่วมมือประชาชนในช่วงที่ทำงานอยู่บ้าน (Work From Home) เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 สำรวจแหล่งน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณรอบตัวบ้าน และช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เพราะอาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และโรคติดต่อนำโดยยุงลายอื่นๆ  สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 21 กรกฎาคม 2564 พบผู้ป่วย 5,423 ราย เสียชีวิต 5 ราย โดยอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน

            นายแพทย์อภิชาต กล่าวต่อไปว่า ยุงลายขยายพันธุ์โดยวางไข่ตามขอบภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น โอ่งน้ำ เศษภาชนะขังน้ำ อ่างเลี้ยงปลา จานรองขาตู้กับข้าว เป็นต้น เมื่อฝนตกหรือมีน้ำมาเติมเต็มภาชนะไข่ที่ติดอยู่ขอบภาชนะเหล่านั้นก็จะฟักตัวกลายเป็นลูกน้ำและยุงลายตัวเต็มวัยในที่สุด แม้ไข่ยุงลายจะแห้งติดอยู่ตามภาชนะต่างๆ มานานหลายเดือนก็สามารถแตกเป็นลูกน้ำได้เมื่อได้รับน้ำ สำหรับการป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายนั้น ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลาย เกาะพัก 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บเศษภาชนะที่ต้องการทิ้งไว้ในถุงดำมัดปิดปากถุง และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะไม่ใช้ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำหรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา

            ด้านแพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออกกับโรคโควิด 19 ทำให้มีอาการทรุดหนักมากและรวดเร็วได้ ดังนั้น หากมีอาการสงสัยดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจและวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

********************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564


ข่าวสารอื่นๆ