สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค ย้ำ! การใช้ “สบู่-แอลกอฮอล์ 70%” ล้างมือบ่อยๆ ทำให้เชื้อโควิด 19 ตาย ตัดวงจรชีวิตเชื้อไม่แพร่ต่อ !!

          กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนทุกโซนพื้นที่ ดูแลความสะอาดมือ เนื่องจากเป็นตัวกลางสำคัญนำเชื้อมาติดและแพร่เชื้อให้คนอื่น ย้ำการล้างมือบ่อยๆ ยิ่งให้ผลดีช่วยตัดวงจรชีวิตเชื้อไม่ให้แพร่กระจายต่อ การล้างที่ได้ผลและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก คือ ล้างด้วยสบู่และน้ำ ฟอกมือและล้างให้นานกว่า 20 วินาที และล้างด้วยแอลกอฮอล์ 70% ในรูปเจลหรือสเปรย์ โดยต้องใช้ขณะมือแห้งและไม่เปื้อนคราบสกปรก จะทำให้เชื้อไวรัสโควิด 19 ตายทุกสายพันธุ์

          วันนี้ (19 สิงหาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในเดือนสิงหาคมนี้ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันยังคงมีจำนวนมากกว่า 20,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า (Delta) เชื้อจะออกมากับสารคัดหลั่ง เช่น ละอองน้ำลายหรือเสมหะของผู้ติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการป่วย เชื้อสายพันธุ์นี้ติดต่อกันง่ายมากในช่วงเวลาอันสั้น และแพร่ได้เร็วกว่าไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์อื่น ผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ต่อไปอีก 6 - 8 คน และขยายวงต่อๆ ไปอีก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานโรคนี้

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อไปว่า วิธีการป้องกันการติดเชื้อให้ได้ผลมากที่สุดในขณะนี้ ขอให้ประชาชนทุกพื้นที่ลดความเสี่ยงรับเชื้อ โดยงดการออกนอกบ้านให้มากที่สุด ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกัน งดการรวมกลุ่มกิจกรรมทุกชนิด ไม่ทานอาหารร่วมวงกับผู้อื่น ดูแลความสะอาดบ้านเรือนที่พักอาศัย เปิดประตูหน้าต่างบ้านให้อากาศถ่ายเทหมุนเวียน ใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์หรือจุดที่สัมผัสร่วมกัน เช่น กุญแจประตูบ้าน บานจับปิดเปิดประตูบ้าน บานจับตู้เย็น รีโมทคอนโทรลต่างๆ เป็นต้น ควบคู่กับการป้องกันตนเองอย่างเข้มข้น คือ สวมหน้ากากอนามัยเพื่อปิดจมูกและปากไว้ตลอดเวลา หน้ากากอนามัยจะเปรียบเสมือนเป็นโล่ปกป้องไม่ให้เชื้อโควิด 19 เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และต้องล้างมือบ่อยๆ ซึ่งมีความสำคัญมากในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสชนิดนี้ โดยผลจากการสอบสวนโรคในผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโควิด 19 พบสาเหตุหลักติดเชื้อมาจากการสัมผัส ดังนั้นมือจึงเป็นอีกตัวกลางสำคัญทั้งรับเชื้อโควิด 19 มาให้ตนเองและนำเชื้อไปติดคนอื่น การล้างมือจะเป็นการตัดตอนการแพร่กระจายได้ดีมาก ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ ยิ่งลดได้มากเท่าใด จะทำให้เราสามารถควบคุมและยุติการระบาดภาพรวมได้เร็วขึ้น

          ทางด้านแพทย์หญิงปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การล้างมือ เป็นอาวุธประจำตัวของประชาชนใช้ทำลายเชื้อไวรัส ยิ่งโรคระบาดรุนแรง ขอให้มองว่าทั้งมือและสิ่งของต่างๆ ที่เราจะหยิบจับ ไม่มีความปลอดภัย ต้องล้างมือบ่อยๆ โดยก่อนและหลังสัมผัสสิ่งของ ก่อนรับประทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำ หลังจากไอจาม วิธีการล้างมือที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่ามีประสิทธิภาพต่อการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ทุกสายพันธุ์ มี 2 วิธี วิธีแรกคือ การล้างด้วยน้ำและสบู่ใช้ได้ทั้งชนิดก้อนและสบู่เหลว ฤทธิ์ของสบู่จะไปทำลายปลอกไขมันที่หุ้มตัวเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้แตกออก ทำให้เชื้อหมดฤทธิ์ไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้ เป็นการตัดวงจรเชื้อ โดยต้องล้างและฟอกสบู่ให้ทั่วฝ่ามือ หลังฝ่ามือ ซอกนิ้วมือ หลังมือ นิ้วโป้ง ซอกเล็บ รอบข้อมือ ควรถูอย่างช้าๆ ใช้เวลา 20 วินาทีขึ้นไปจึงได้ผล หลังจากล้างมือแล้วให้เช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาดหรือซับด้วยกระดาษทิชชูก่อนไปสัมผัสร่างกายหรือหยิบจับสิ่งของ

          “การล้างมือฟอกสบู่แบบรีบๆ คือ ถูมือไปมาอย่างรวดเร็วและรีบล้างออกด้วยน้ำ หรือใช้น้ำเปล่าล้างมืออย่างเดียว ยังไม่เพียงพอต่อการกำจัดเชื้อโรคออกไปจากฝ่ามือ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้” แพทย์หญิงปิยนิตย์กล่าว

          แพทย์หญิงปิยนิตย์กล่าวต่อไปว่า วิธีที่ 2 การล้างด้วยแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นตั้งแต่ 70% ขึ้นไป สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ทุกสายพันธุ์ เชื้อจะตายทันที ข้อสำคัญคือ ต้องใช้ขณะมือแห้ง และไม่เปื้อนคราบสิ่งสกปรกอื่นๆ การใช้แอลกอฮอล์ขณะมือเปียก จะทำให้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เจือจางลง จนฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้ โดยประชาชนสามารถใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น เจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ โดยใช้แอลกอฮอล์ประมาณ 10 ซี.ซี. ถูที่ฝ่ามือให้ทั่ว ทั้งหลังมือ ง่ามนิ้วมือ และบริเวณใต้เล็บ ใช้เวลา 15-25 วินาที หรือใช้แผ่นชุบแอลกอฮอล์ (Alcohol pad) หรือกระดาษทิชชูเปียกที่มีแอลกอฮอล์ผสมตั้งแต่ 70% ขึ้นไป เช็ดให้ทั่วฝ่ามือ ง่ามนิ้ว เล็บ หลังมือ และปล่อยให้แอลกอฮอล์ที่ฝ่ามือระเหยแห้งไปเอง ไม่ต้องเช็ดหรือล้างน้ำซ้ำอีก เพื่อคงประสิทธิภาพแอลกอฮอล์ไว้

 

****************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักงานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค

วันที่ 19 สิงหาคม 2564

 


ข่าวสารอื่นๆ