สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค ห่วงประชาชนช่วงหลังฝนตก!! ยุงลายเกิด เสี่ยงป่วย “โรคไข้เลือดออก” แนะหากป่วย มีไข้ติดต่อเกิน 2 วัน ขอให้สงสัยไว้ก่อน รีบพบแพทย์ ป้องกันเสียชีวิต!!

            กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนช่วงหลังฝนตกต่อเนื่อง ยุงลายอาจชุกชุม เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกได้ทุกวัย แนะให้สังเกตอาการหากมีไข้ติดต่อกัน 2 วัน กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ขอให้สงสัยอาจป่วยโรคนี้ ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ป้องกันเสียชีวิต และให้ทุกบ้านร่วมมือกันลดจำนวนยุงลาย โดยยึดหลัก 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ ไม่ให้ยุงลายวางไข่ทั้งในและรอบบ้าน 

            วันนี้ (15 กันยายน 2564) นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกลงมาในพื้นที่ของประเทศไทย อาจมีน้ำขังตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ เช่น กล่องโฟม แก้ว พลาสติก ยางรถยนต์เก่า ถ้วยหรือกะลารองน้ำยางดิบ หรือใบไม้ขนาดใหญ่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งสามารถนำเชื้อไวรัสแพร่มาสู่คนได้ 3 โรค คือโรคไข้เลือดออก(Dengue Hemorrhagic Fever) ไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา(Chikungunya) และไข้ซิกา (Zika Fever) ที่พบมากที่สุดขณะนี้ คือโรคไข้เลือดออก และที่ผ่านมามักพบโรคนี้ ในช่วงหลังฝนตกหนักต่อเนื่อง และภายหลังน้ำท่วม จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกหลังคาเรือน ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และกำจัดแหล่งแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้านและบริเวณรอบตัวบ้าน เพื่อลดจำนวนยุง ลดความเสี่ยงการเจ็บป่วย

            สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-6 กันยายน 2564 พบผู้ป่วยสะสม 6,689 ราย เป็นเพศชาย 3,501 ราย เพศหญิง 3,188 ราย ภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด พบ 18.48 ต่อแสนประชากร  กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี และ อายุต่ำกว่า 4 ปี ตามลำดับ  มีผู้เสียชีวิต 6 ราย เป็นชาย 5 ราย หญิง 1 ราย  อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี และ 65 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตในเด็ก คือ โรคอ้วน ส่วนในผู้สูงอายุคือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตที่สำคัญ ได้แก่ การพบแพทย์ช้า และมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่พักอาศัยด้วย  

            รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า ยุงลายที่นำเชื้อไข้เลือดออกส่วนใหญ่ เป็นยุงลายบ้าน มักอาศัยอยู่ในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน ออกกัดคนในเวลากลางวัน  หลังติดเชื้อ จะมีอาการป่วย ลักษณะสำคัญของโรคนี้คือไข้อย่างเฉียบพลัน ไข้ตลอดทั้งวัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและเบื่ออาหาร ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดอาการรุนแรงอาจมีภาวะช็อคและเสียชีวิตได้  ดังนั้นหากประชาชนมีอาการที่กล่าวมา มีไข้ติดต่อกัน 2 วัน ขอให้สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยากินเอง ให้รีบพาไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านโดยเร็ว เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ป้องกันการเสียชีวิต โดยเฉพาะหากเป็นผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 และติดเชื้อไข้เลือดออกด้วย อาการอาจทรุดหนักได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ประชาชนสามารถโทรปรึกษาอาการป่วยต่างๆที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

          สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออก รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา ขอให้ประชาชนทุกคนระวังอย่าให้ยุงกัด สวมใส่เสื้อผ้าแขนยาวสีอ่อนๆ นอนในมุ้งหรือทายากันยุง หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณมุมอับมืด  ประการสำคัญขอให้ทุกบ้านกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกอาทิตย์ ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ได้ผลดีที่สุด โดยยึดหลัก 3 เก็บ เพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่ ดังนี้ 1.เก็บกวาดบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก2.เก็บขยะ เศษภาชนะทุกชนิดโดยเฉพาะที่อยู่รอบบ้าน ทิ้งในถุงดำ มัดปิดปากถุงแล้วนำไปทิ้งในถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขังน้ำให้ยุงวางไข่เพาะพันธุ์ได้  3.เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะที่ไม่ใช้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะเล็กๆ เช่น ถ้วยรองขาตู้ หรือแจกันทุกสัปดาห์ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำหรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะเปิด เช่น อ่างเลี้ยงไม้น้ำ เป็นต้น

 

*************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 15 กันยายน 2564


ข่าวสารอื่นๆ