สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 33/2564 "เตือนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกและเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ อาจเสี่ยงป่วยโรคไข้ฉี่หนู"

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 33/2564 ประจำสัปดาห์ที่ 38 (วันที่ 19 - 26 ก.ย. 64)

 

          “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค  สถานการณ์ของโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคไข้ฉี่หนู ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 12 กันยายน 2564 พบผู้ป่วย 635 ราย เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 35-44 ปี รองลงมา คือ 45-54 ปี และอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ระนอง พัทลุง พังงา ยะลา สงขลา ส่วนใหญ่ประกอบชีพเกษตรกร ร้อยละ 31.7”

          “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังและสภาพพื้นดินเปียกชื้น โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู มักมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝนและมีน้ำท่วมขัง โดยเชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะหนู และมักปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำขังหรือที่ชื้นแฉะ ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการสัมผัสและได้รับเชื้อโรคดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรหรือผู้ที่มีการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรืออาจเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ยังอาจติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน   กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือสัมผัสน้ำที่ท่วมขังโดยตรง  หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น การทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน อาธิ รองเท้าบูท ถุงมือยาง กรณีที่สัมผัสถูกน้ำในระหว่างทำกิจกรรมให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสบู่และเช็ดให้แห้ง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ควรล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดก่อนนำมารับประทาน กำจัดหนูและรังโรคในบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน และแหล่งท่องเที่ยว สำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงแช่น้ำ ย่ำดินโคลน หรือบุคคลทั่วไป หากพบว่ามีอาการป่วยด้วยไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำให้แพทย์ทราบ หากเข้ารับการรักษาล่าช้าอาจเกิดอาการตับวาย  ไตวาย และเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”

 

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 19 กันยายน 2564

 


ข่าวสารอื่นๆ