สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนช่วงปีใหม่นี้ หลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุกๆดิบๆ เสี่ยงป่วยโรคไข้หูดับ อาจทำให้หูหนวกถาวรได้

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนช่วงปีใหม่นี้ หลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้ แนะทำสดใหม่ ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อน และขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด

            วันนี้ (29 ธันวาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ ประชาชนมักเดินทางกลับภูมิลำเนา กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการกินอาหารในช่วงปีใหม่ โดยเฉพาะการทำอาหารกินเองในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนๆ หากนำเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้านมากินดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อ สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส อาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้ ที่สำคัญในช่วงนี้มีการระบาดของโรคโควิด 19 ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ลดการรวมกลุ่มของคนจำนวนมากและเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องเข้าไปในสถานที่ต่างๆ ขอให้สแกนไทยชนะเพื่อให้สามารถติดตามตัวได้ง่าย หรืออาจทำอาหารกินเองภายในครอบครัว หากกินร่วมกันหลายคนให้เว้นระยะห่าง และแยกสำรับอาหารของแต่คนด้วย

            ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 17 ธันวาคม 2564 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ  จำนวน 557 ราย เสียชีวิต 24 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ ส่วนภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ น่าน และสุโขทัย ตามลำดับ  

            โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย ที่สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 2.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตาที่มีเชื้ออยู่ โดยกลุ่มเสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ  ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ

            นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติม หลังรับประทานเนื้อหมู หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะ จนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  หากมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้ สำหรับวิธีการป้องกัน คือ  1.ควรบริโภคอาหารที่สุก ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อน หากกินอาหารปิ้งย่างหรือหมูกระทะควรมั่นใจว่าเนื้อหมูที่รับประทานสุกก่อนเสมอ และแยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ  2.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวม   รองเท้าบู๊ทยางสวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้งขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ยังเป็นการลดความกังวลต่อการติดเชื้อของโรคโควิด 19 ด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

 ************************
ข้อมูลจาก: กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 29 ธันวาคม 2564


ข่าวสารอื่นๆ