สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 10/2565 "เตือนประชาชนระวังถูกสุนัข-แมว กัดหรือข่วน เสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับช่วงนี้อากาศร้อนอาจทำให้สัตว์หงุดหงิดได้ง่าย"

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 10/2565 ประจำสัปดาห์ที่ 11 (วันที่ 13 - 19 มี.ค. 65)

 

          “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2564 ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิต 3 รายใน 3 จังหวัด (จังหวัดสุรินทร์ 2 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ 1 ราย) สำหรับในปี 2565 นี้ พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 ราย ที่จังหวัดชลบุรี โดยได้รับรายงานเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประวัติสัมผัสกับสุนัขของเพื่อนบ้านที่นำมาฝากเลี้ยงข่วน”

           “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้อาจมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ เนื่องจากโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับช่วงนี้อากาศร้อนอาจทำให้สัตว์หงุดหงิดได้ง่าย โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เชื้อจะเข้าทางบาดแผล ผ่านการกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ สัตว์ที่พบบ่อยที่สุด คือ สุนัข รองลงมาคือ แมวและวัว จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและบุตรหลานไม่ให้ถูกสัตว์กัดข่วน และนำสุนัขและแมวที่เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดเป็นประจำทุกปี   กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชน หมั่นสังเกตอาการสุนัขและแมว และนำไปฉีดวัคซีนตามกำหนดที่จุดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (ในสัตว์) สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครมีบริการที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีน 8 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน  ศูนย์บริการสาธารณสุข 33 วัดหงส์รัตนาราม ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วงนุชเนตร ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 บางกอกน้อย และกลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าดินแดง หรือหน่วยบริการฉีดวัคซีนสุนัขบ้าฟรี ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัขหรือแมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อพิษสุนัขบ้า หากถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน ให้รีบล้างแผลทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและรีบไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด โดยการฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามนัดจึงจะได้ผลเพราะหากติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและปล่อยทิ้งไว้จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาทและแสดงอาการป่วยแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

     

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 14 มีนาคม 2565


ข่าวสารอื่นๆ