สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค ติดตามและประเมินสถานการณ์โรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งรัดกลุ่มเสี่ยง 608 ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

             

          กรมควบคุมโรค ติดตามและประเมินสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เน้นการจับตาตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะมีความสำคัญในการบริหารเตียงและเวชภัณฑ์ ซึ่งการรายงานดังกล่าว จะมีผลต่อการวางแผนและการเตรียมความพร้อมระบบรองรับทางสาธารณสุขและการแพทย์

          วันนี้ (4 กรกฎาคม 2565) นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคโควิด 19 ในขณะนี้ มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น หลังจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการน้อยไม่รุนแรง หรือเรียกว่าผู้ป่วยสีเขียว และคาดว่าอาจมีจำนวนมากกว่า 10 เท่า ของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นการติดตามสถานการณ์และรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบรองรับทางสาธารณสุขเละการแพทย์ จึงจำเป็นต้องจับตาและรายงานสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงเป็นหลักเพื่อนำมาวิเคราะห์หรือกำหนดแนวทางมาตรการต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยในปัจจุบันมีการครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 10% ของจำนวนเตียงทั้งหมด ขอให้มั่นใจว่าการเผยแพร่ทุกข้อมูลเป็นไปตามนานาชาติดังเช่นหลายประเทศที่ปรับระบบการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อจากรายวันเป็นรายสัปดาห์หรือรายงานเฉพาะการเสียชีวิต และที่สำคัญระบบสาธารณสุขเตรียมความพร้อมทรัพยากรสามารถรองรับได้ เพียงพอทั้งเตียง แพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยสามารถติดตามได้จากข้อมูลทะเบียนผู้ติดเชื้อที่ไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค หรือเฟซบุ๊กเพจกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเฟซบุ๊กเพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมประชาสัมพันธ์

          ด้านนายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่สำคัญคือการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 โดยเน้นมาตรการ 2U คือ Universal Prevention คือ การป้องกันการติดเชื้อ โดยการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หากพบมีอาการน่าสงสัยควรตรวจหาเชื้อ และ Universal Vaccination คือ ให้มารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 เป็นพื้นฐาน และฉีดเข็มกระตุ้นต่อไปทุก 4 เดือน เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือ คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตหากติดเชื้อ

          ทั้งนี้ แม้ภาพรวมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 จะยังไม่ถึง ร้อยละ 60 แต่หากพิจารณาในรายจังหวัดจะพบว่า มีหลายจังหวัดที่มีผู้สูงอายุได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน ร้อยละ 60 ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต ขอความร่วมมือให้จังหวัดที่ยังมีความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้นต่ำกว่าเป้าหมายช่วยกันรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการรับมือกับโรคโควิด 19 ที่จะปรับมาเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อทั่วไปในอนาคต และกลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติที่สุด

 

********************************

ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565

 


ข่าวสารอื่นๆ