สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชน “กินเนื้อวัวดิบ” เสี่ยงโรคพยาธิตัวตืดและอีกหลายโรค

     กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนกินเนื้อวัวหรือเนื้อควายดิบๆ เสี่ยงโรคพยาธิ ตัวตืด และโรคแบคทีเรียอื่นๆ หรืออาจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ด้วย แนะกินอาหารโดยยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด 

     วันนี้ (17 สิงหาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าจากกรณีสื่อสังคมออนไลน์ ได้รีวิวการกินและวิธีการทำเมนูนิยม เนื้อวัว-ควายสดๆ เช่น เนื้อวัวดิบ จิ้มแจ่ว ซอยจุ๊ ลาบดิบ ก้อย ซอยห่าง แหนมดิบ (อาหารอีสาน) ลาบดิบ ส้า จิ้นส้ม (อาหารเหนือ) โดยมีการกล่าวอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมการกินที่มีมานาน อย่างไรก็ตามกรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลเพื่อเตือนภัยสุขภาพสำหรับผู้ที่กินเป็นประจำหรือคิดอยากลองว่า การกินเมนูดังกล่าวมีความเสี่ยงพบโรคพยาธิตัวตืดวัว-ควาย เกิดจากการกินตัวอ่อนพยาธิที่เรียกว่า เม็ดสาคู ตัวอ่อนจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้ รูปร่างคล้ายก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ยาว  5-10 เมตร อาจยาวถึง 25 เมตร และมีลำตัวเป็นปล้องประมาณ 1,000-2,000 ปล้อง และปล้องสุกจะหลุดออกมา 3-4 ปล้องกับอุจจาระ หรือคลานออกจากทวารหนักในแต่ละวัน โดยมีอายุอยู่ในลำไส้คน ประมาณ 10-25 ปี พยาธิจะแย่งอาหารในลำไส้และจะเกิดอาการหิวบ่อย ปวดบริเวณลิ้นปี่ ไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งท้องร่วง ท้องผูก น้ำหนักตัวลดลง ปล้องสุกที่หลุดออกมาอาจเข้าไปในไส้ติ่ง และทำให้ไส้ติ่งอักเสบได้

     นายแพทย์วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ เช่น 1) โรคแอนแทรกซ์ เกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายท้องอย่างรุนแรง อาจพัฒนาไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจเสียชีวิตได้  2) เชื้อซาลโมเนลลา เป็นแบคทีเรียที่มักมี การปนเปื้อนมากับอาหาร เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมักมีอาการอาเจียน ท้องร่วง  3) เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เป็นเชื้อที่สามารถพบได้ในทางเดินอาหารของ วัว และสัตว์อื่นๆ เชื้อนี้อาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้ บางครั้งอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย  4) เชื้ออีโคไล เป็นเชื้อที่สร้างสารพิษทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ไปประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริว และมีอาการท้องร่วง บางครั้งอาจมีเลือดปน และ 5) เชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หากนำเนื้อวัว-ควายที่ตายแบบไม่ทราบสาเหตุมากิน แล้วไปเจอวัวควายที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งคนแล่เนื้อ คนปรุงอาหาร และผู้ที่กินเนื้อดิบๆ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

     ข้อแนะนำประชาชนให้เลือกซื้อเนื้อวัว-ควายที่ผ่านการตรวจจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานแล้วเท่านั้น รับประทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงสุกอย่างทั่วถึง โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สุกด้วยความร้อน หรือผ่านการทำลายตัวอ่อนพยาธิ เช่น ฉายรังสี หรือเก็บเนื้อไว้ในตู้เย็น -20 ˚c เป็นเวลา 5-7 วันขึ้นไป สำหรับผู้ปรุงประกอบอาหาร ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

****************************
ข้อมูลจาก: กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 17 สิงหาคม 2565

 

 


ข่าวสารอื่นๆ