สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เตือนระวังอุบัติเหตุจากการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ช่วงวันลอยกระทง เสี่ยงได้รับบาดเจ็บรุนแรง และสูญเสียอวัยวะสำคัญ

          กรมควบคุมโรค เตือนระวังอุบัติเหตุจากการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ช่วงวันลอยกระทงปีนี้ ซึ่งอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บทำให้สูญเสียอวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกายได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่พบว่าได้รับอุบัติเหตุมากที่สุด พร้อมแนะวิธีการป้องกันการบาดเจ็บ

            วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า    ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ เป็นวันลอยกระทง ซึ่งรัฐบาลอนุญาตให้จังหวัดต่างๆ สามารถจัดงานเทศกาลต่างๆ ได้ โดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของประชาชนผู้มาร่วมงาน และทุกปีที่ผ่านมาในช่วงเทศกาลลอยกระทง มักเกิดอุบัติเหตุจากการจุดพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ทำให้ได้รับบาดเจ็บตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย หากบาดเจ็บรุนแรงอาจสูญเสียอวัยวะสำคัญหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

          จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค ปี 2564 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ จำนวน 594 ราย พบมากในเดือนมกราคม ธันวาคม ตุลาคม พฤศจิกายน ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเทศกาลในประเทศไทย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 1-14 ปี (ร้อยละ 23.4) รองลงมา 15-29 ปี (ร้อยละ 22.7) อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง 3 อันดับแรก คือ มือ และนิ้ว (ร้อยละ 58.4) ตา (ร้อยละ 7.5) หัวและคอ (ร้อยละ 6.6)

          นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า คำแนะนำในการป้องกันการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ดังนี้ 1.ไม่ควรให้เด็กจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟด้วยตนเอง  2. ออกห่างจากบริเวณที่จุดประทัดหรือพลุ  3.สอนเด็กให้รู้ถึงอันตรายของพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ เช่น อาจทำให้ตาบอด หูตึง นิ้วขาด พิการ หรือเสียชีวิตได้  4.ห้ามโยนพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟใส่ผู้อื่น  5.ไม่ควรจุดซ้ำหากจุดแล้วไม่ติด  6.หากจำเป็นต้องใช้ในงานพิธีควรจุดให้ห่างจากตัวประมาณ 1 ช่วงแขน ควรจุดในที่โล่งไม่จุดใกล้วัตถุไวไฟ ใบไม้แห้งอาคารบ้านเรือน และไม่ควรจุดครั้งละจำนวนมาก  7.ห้ามเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน เพราะอาจระเบิดได้  8.ควรเตรียมภาชนะบรรจุน้ำไว้ใกล้ๆ ไว้ใช้กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

          ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือเกิดอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร.1669 อย่างไรก็ตาม ขอย้ำเตือนว่า การเล่นดอกไม้ไฟจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือทำให้เกิดเพลิงไหม้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน   กรมควบคุมโรค โทร.1422

 

****************************

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565


ข่าวสารอื่นๆ