สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 2/2566 "เตือนประชาชนเลี่ยงลุยน้ำย่ำโคลน ลดเสี่ยงเมลิออยโดสิส"

 

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 2/2566 ประจำสัปดาห์ที่ 4 (วันที่ 22 – 28 มกราคม 2566)

 

          “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคสถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) ในประเทศไทยตั้งแต่ 1 - 16 มกราคม 2566 มีรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 110 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่ผู้ป่วยสูงสุดคือ อายุ 55-64 ปี (38.18%) รองลงมาคืออายุมากกว่า 65 ปี (29.09%) และอายุ 45-54 ปี (12.73%) อาชีพส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร (60.0%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุด และ 5 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี และยโสธร รวมถึงยังพบผู้ป่วยประปรายในจังหวัดเขตภาคกลาง และภาคเหนือเช่นกัน”

          “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) มากขึ้น เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมและพฤติกรรมสุขภาพ โรคเมลิออยโดสิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเจริญได้ในภาวะเป็นกรด (pH 4.5-8) และอุณหภูมิระหว่าง 15-42 องศาเซลเซียส พบได้ในดินและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เชื้อมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมมาก ประชาชนสามารถติดเชื้อผ่านทางผิวหนังที่สัมผัสดินและน้ำที่มีเชื้อเป็นเวลานาน รวมถึงการดื่มน้ำที่ไม่สะอาดหรือการหายใจเอาฝุ่นดินที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป โรคดังกล่าวจะแสดงอาการหลังจากติดเชื้อ 1-21 วัน หรือบางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการมีความหลากหลายไม่จำเพาะ เช่น หากติดเชื้อทางผิวหนังจะมีอาการเจ็บ บวม มีแผลเปื่อยสีขาวเทาและอาจเป็นหนอง หากติดเชื้อที่ปอดที่เกิดจากการสูดดมหรือผ่านกระแสเลือด อาจทำให้ปอดอักเสบและทำให้มีฝีหนองในปอดได้ โดยอาการที่ปรากฏให้เห็นมีตั้งแต่หลอดลมอักเสบชนิดไม่รุนแรงไปจนถึงอาการของโรคปอดบวมชนิดรุนแรงร่วมกับมีไข้และไอ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก   เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา

          กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) ได้แก่

          1. ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำและเมื่อเสร็จภารกิจให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่

          2. หากมีบาดแผลบริเวณผิวหนังควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อและหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท

          3. รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด หากไม่แน่ใจให้ต้มน้ำให้สุกก่อนดื่ม และหากมีอาการไข้สูง ร่วมกับมีประวัติการสัมผัสดินและน้ำ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”

     

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 25 มกราคม 2566


ข่าวสารอื่นๆ