สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค รับมอบชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูชนิดรวดเร็ว ชุดตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนบนวัสดุการแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมหารือแนวทางการสร้างระบบรองรับความมั่นคงทางการสาธารณสุข

 

       

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รับมอบเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย ชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูชนิดรวดเร็ว ชุดตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนบนวัสดุการแพทย์ เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ ที่พัฒนาและผลิตโดยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเสริมความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ พร้อมหารือแนวทางความร่วมมือการสร้างระบบรองรับความมั่นคงทางการสาธารณสุขของประเทศ

          วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำพิธีรับมอบชุดทดสอบทางการแพทย์ฝีมือนักวิจัยไทยจากศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รวมมูลค่า 2.1 ล้านบาท

          และในวันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ส่งมอบเวชภัณฑ์อย่างเป็นทางการแก่อธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งประกอบด้วย
ชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูชนิดรวดเร็ว (Onsite Leptospira Rapid Test) จำนวน 10,000 ชุด ชุดตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนบนวัสดุการแพทย์ (Contaminant Detection Kit for Medical Devices) จำนวน 10,000 ชุด เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ จำนวน 480 ขวด เพื่อเพิ่มความครอบคลุมของการตรวจวินิจฉัยและการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น

          นายแพทย์ธเรศ ได้กล่าวว่า จะมีการนำชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูมอบให้กับสำนักงานป้องกันควบคุมโรค เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการระบาดของโรคฉี่หนู รวมทั้งกระจายชุดตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนบนวัสดุทางการแพทย์และเจลแอลกอฮอล์ไปยังสถานพยาบาลเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่วันที่ 1 - 29 มกราคม 2565 พบผู้ป่วย 180 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 45-54 ปี (21.11%) รองลงมา คือ 35-44 (20.56%) ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร (37.8%) สำหรับปี 2565 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 3,601 ราย เสียชีวิต 44 ราย โดยพื้นที่ที่พบอัตราป่วยโรคฉี่หนูมากที่สุด ได้แก่ ภาคใต้ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีการส่งเสริมการพัฒนา วิจัยนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์แบบครบวงจร รวมทั้งมีศักยภาพและความพร้อมในการผลิตนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดทดสอบทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อเป็นหน่วยงานเสริมให้แก่กรมควบคุมโรคและรองรับพันธกิจที่สำคัญของรัฐบาลในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย

          นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคและมหาวิทยาลัยมหิดลได้หารือแนวทางความร่วมมือในการสร้างระบบรองรับความมั่นคงทางการสาธารณสุขให้แก่ประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทย ส่งเสริมความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า และสร้างการแข่งขันในระดับสากลได้ต่อไป

 

********************************************

ข้อมูล: กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566


ข่าวสารอื่นๆ