สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค ร่วมกับ สสส. พัฒนาศักยภาพการทำงานเชิงรุก เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ จากการประกอบอาชีพในแรงงานนอกระบบ

         

          วันนี้ (23 มีนาคม 2566) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินงานโครงการเสริมศักยภาพกลไกการทำงานเชิงรุก เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมในแรงงานนอกระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและเผยแพร่ผลการดำเนินงานการเสริมศักยภาพกลไกการทำงานเชิงรุกด้านอาชีวอนามัย ในแรงงานนอกระบบ 5 กลุ่มอาชีพเสี่ยงสูง ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรแกะสลักหิน เก็บและคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขับรถรับจ้าง และกลุ่มตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากผ้า

          นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยมีถึงร้อยละ 52 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด โดยเฉพาะช่วงระบาดและหลังการระบาดของโรคโควิด 19 ได้เกิดอาชีพอิสระ ที่ทำงานแบบชั่วคราว จบเป็นครั้งๆ หรือ Gig worker และกลุ่มรับจ้างส่งของ ส่งอาหาร (delivery job) เพิ่มขึ้น  อย่างไรก็ตาม กว่าครึ่งของแรงงานนอกระบบจะอยู่ในภาคเกษตรกรรม โดยมีถึง 11.4 ล้านคน แรงงานเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงจากการทำงาน เนื่องจากไม่มีระบบบริหารจัดการทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และยังขาดการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย ซึ่งเป็นการป้องกันปัจจัยเสี่ยงจากการทำงานก่อนป่วย โครงการนี้จึงได้จัดทำขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจาก นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค และผู้แทนจากเครือข่าย เข้าร่วมกว่า 100 คน

          นางภรณี กล่าวว่า การดำเนินงานของ สสส. ตามเป้าหมาย 10 ปี มีวิสัยทัศน์เพื่อให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีวิถีชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี สสส. ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานนอกระบบ กว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีการสานพลังให้แรงงานนอกระบบลดความเสี่ยงจากการทำงาน มีความรอบรู้ทางสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน และมีศักยภาพในการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือเครือข่ายแรงงานนอกระบบและเสริมพลังกัน โดยมีผลงานที่ผ่านมา เช่น การศึกษาสถานการณ์แรงงานนอกระบบ สถานการณ์แรงงานแพลตฟอร์มและจัดทำเป็นข้อเสนอต่อการคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม การขับเคลื่อนการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน และลูกจ้างภาคเกษตร พัฒนาหลักสูตรและแกนนำสร้างเสริมสุขภาพไรเดอร์ ซึ่งกรมควบคุมโรค เป็นภาคีเครือข่ายสำคัญที่ดำเนินงานร่วมกับ สสส. เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยจากการทำงาน รวมถึงร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 ให้กลุ่มแรงงานนอกระบบได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์แผนในอนาคตคือการขยายผลการสนับสนุนความรอบรู้ด้านสุขภาพผ่านเครือข่ายแรงงานนอกระบบในวงกว้างขึ้น สานพลังหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน ขยายงานต้นแบบสร้างสุขภาวะ ผลักดันนโยบายผ่านกระบวนการเรียนรู้และลงมือทำในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้แรงงานนอกระบบมีกาย จิต ปัญญา และสังคมที่ดี

          แพทย์หญิงหรรษา รักษาคม ผู้อำนวยกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ได้ดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 6 เขตสุขภาพ 14 จังหวัด ประกอบด้วย เขตสุขภาพที่ 1 (จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง) เขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น) เขตสุขภาพที่ 8 (จังหวัดอุดรธานี) เขตสุขภาพที่ 9 (จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์) เขตสุขภาพที่ 10 (จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร) และเขตสุขภาพที่ 12 (จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดพัทลุง)  โดยมีชุดกิจกรรมและนวัตกรรมต่างๆ  เช่น  application เพื่อเพิ่มความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ หลักสูตรอาชีวอนามัยพื้นฐาน E-learning สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมไปถึงการพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย นำไปสู่การลดความเสี่ยงจากการทำงานของแรงงานนอกระบบอย่างยั่งยืนต่อไป   

 

*****************************

ข้อมูลจาก : กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 23 มีนาคม 2566


ข่าวสารอื่นๆ