กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
Responsive image

News & Update by DAS ฉบับ 004 ประจำเดือนสิงหาคม

ไขข้อสงสัย “โรคฝีดาษวานร” เสี่ยงติดต่อจากการมี SEX หรือไม่? 

               กลายเป็นประเด็นที่ควรจับตามอง สำหรับ “โรคฝีดาษวานร” หลังพบผู้ป่วยในประเทศไทย 2 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2565) และมีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นจากทั่วโลก จนล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษวานร เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน 

             “โรคฝีดาษลิง” เกิดจากเชื้อไวรัสฝีดาษวานร อยู่ในตระกูลเดียวกับไข้ทรพิษ แต่โรคฝีดาษวานรมีความรุนแรงน้อยกว่า โดยมีระยะฝักตัว 5 - 21 วัน อาการเบื้องต้น คือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว เจ็บคอ ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จะเกิดผื่นคัน เริ่มจากบริเวณใบหน้าและกระจายไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่จะขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า รวมถึงอวัยวะเพศ ผื่นนี้จะมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง และกลายเป็นตุ่มหนอง และมีสะเก็ดหลุดออกมา 

            ช่องทางการติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อ ได้แก่ 

  • การสัมผัสโดยตรง จากการสัมผัส กอด จูบ ลูบ คลำ หรือออรัลเซ็กส์
  • การสัมผัสละอองน้ำลาย/น้ำมูก รวมถึงการสัมผัสสารคัดหลั่ง
  • การสัมผัสของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว และเซ็กส์ทอย

การสัมผัสใกล้ชิดมากๆระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะช่องทางใด เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจมีโอกาสรับเชื้อจากผู้ที่เป็นโรคนี้ จากการหายใจใกล้ชิดกัน การสัมผัสผิวหนังต่อผิวหนังโดยเฉพาะในกรณีที่มีตุ่มหนองจากโรคนี้  รวมถึงการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งต่างๆของผู้ป่วย ก็อาจนำ ไปสู่การติดโรคได้เช่นกัน 

            แม้ว่า “โรคฝีดาษวานร” จะสามารถถ่ายทอดเชื้อผ่านทางสารคัดหลั่ง เช่น อสุจิ หรือน้ำในช่องคลอดได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ นั่นหมายความว่า หากต้องการป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ หรือมีคู่นอนหลายคน รวมถึงหลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง หากพบว่ามีความเสี่ยง แนะนำให้รีบพบแพทย์เฉพาะทางทันที เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง และไม่ควรซื้อยามากินเอง

 

อ่านเพิ่มเติม 

https://ddc.moph.go.th/monkeypox/file/guidelines/g_medical/guidelines_270765.pdf

https://www.cdc.gov/poxvirus/monkeypox/sexualhealth/index.html

 

วิธีป้องกัน “โรคฝีดาษวานร” ทำอย่างไร ให้ปลอดภัย 

 

ประชาชนทั่วไป

1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มหนองหรือผู้ติดเชื้อโดยตรง รวมทั้งการกอด จูบ และมีเพศสัมพันธ์ หรือบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง (ประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตก แอฟริกากลาง ประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา)

2.งดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เข็มฉีดยา เป็นต้น

3.หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง

4.กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก สะอาด

5.สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในที่แออัดหรือคนพลุกพล่าน และในสถานบริการสุขภาพหรือในสถานที่คัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

 

บุคคลที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อ

1.กรณีผู้ป่วยรอผลตรวจการยืนยัน แนะนำให้กักตัวที่บ้าน โดยแยกห้องน้ำ/ห้องนอน และของใช้ส่วนตัว จนกว่าจะทราบผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ

2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหญิงตั้งครรภ์ เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ผู้ที่มีภาวะภูมิกันบกพร่องและงดการเดินทาง

3.แนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์ ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน

 

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยยืนยัน

1.กรณีตรวจยืนยันพบเชื้อฝีดาษวานรให้งดการมีเพศสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น  

2..ให้ติดตามคู่ หรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย มาตรวจหาเชื้อทันที

3.เมื่อพ้นระยะกักตัวแล้วให้ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ กับทุกคน ทุกช่องทาง  อีก 12 สัปดาห์ 

4.ถ้าใช้อุปกรณ์ช่วยตัวเอง ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ทุกครั้ง

 

 

หมายเหตุ: โรคฝีดาษวานร ป้องกันได้ง่าย เพียงปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention: UP ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัย และโดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ขอให้เพิ่มการระมัดระวัง 
ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทั้งนี้ ถุงยางอนามัย ไม่สามารถป้องกันการสัมผัสผื่น ตุ่มหนอง ในที่อื่น ๆ ได้

 

Tips for You 

โรคฝีดาษวานร พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย รวมถึงสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง ส่วนจากสัตว์สู่คน กรณีที่เราไปสัมผัสเลือดโดยตรง สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่มีเชื้อ / การถูกกัด รวมถึงกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อแล้วปรุงไม่สุก และจากคนสู่คน เกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด สารคัดหลั่ง

 

โดย...กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

 


ข่าวสารอื่นๆ