กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
Responsive image

กอพ.จัดอบรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคม จัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน รุ่นที่ 1/2566

กอพ.จัดอบรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคม

จัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน รุ่นที่ 1/2566

              เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร แพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคม รุ่นที่ 1/2566 โดยมีวิทยากรจากแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบำราศนราดูร และกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมด้วยอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน
เข้าร่วมอบรม ทั้งสิ้น 70 คน

         การประชุมครั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ในการคัดกรองโรคเบื้องต้น การดูแลรักษา การขับเคลื่อนกลไกสนับสนุนการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนเพื่อยุติปัญหาเอดส์ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งออกตามความในกฎหมายวิชาชีพเวชกรรม กฎหมายวิชาชีพเภสัชกรรม และกฎหมายวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ มอบหมายอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคมที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดหรือที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองและได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถจากกระทรวงสาธารณสุข สามารถประกอบวิชาชีพเวชกรรม วิชาชีพเภสัชกรรม และวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ได้ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์      

การดำเนินงานดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างสถานบริการภาครัฐ และองค์กรภาคประชาสังคม นับเป็นส่วนสำคัญในการร่วมจัดบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และดูแลติดตามผู้รับบริการ ช่วยให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้เข้าสู่บริการป้องกัน บริการตรวจ และดูแลรักษาการติดเชื้อเอชไอวี ตลอดจนโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อเอชไอวีในระบบบริการสุขภาพ อาทิ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วัณโรค ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบ ซี ซึ่งกรมควบคุมโรค ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม พร้อมสนับสนุนให้เกิดการจัดบริการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ และการดูแลสุขภาพของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคมตามหลักสูตรการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน (หลักสูตร 50 ชั่วโมง) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยรับรองอาสาสมัครภาคประชาสังคม สามารถให้บริการได้ตามมาตรฐานฯ ส่งผลให้องค์กรภาคประชาสังคม ได้รับการรับรองเป็นหน่วยบริการอื่นๆ ตามมาตรา 3 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อความยั่งยืนขององค์กรภาคประชาสังคม และส่งเสริมให้ขยายการดำเนินงานดังกล่าวให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ในการร่วมกันจัดบริการ ทำให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายมีความมั่นใจต่อการจัดบริการ ได้รับบริการอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศสามารถยุติปัญหาเอดส์ ได้ภายในปี 2573

 

 

 


ข่าวสารอื่นๆ