กองโรคติดต่อทั่วไป
Responsive image

การเดินทางที่ปลอดภัยในช่วงโควิด-19

กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และคำแนะนำการเดินทางที่ปลอดภัย

สำหรับคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ ในช่วงโควิด-19

 

กรมควบคุมโรค

วันที่ 15 ตุลาคม 2563

       ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างเผชิญกับเหตุการณ์ระบาดของโรคโควิด-19  ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พร้อมกับการปรับตัวให้สอดรับกับวิถีปกติใหม่(New normal) ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือการตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าสถานที่ต่างๆ และในเชิงผลกระทบทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือได้ว่าเป็นภาคส่วนสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปิดประเทศ  การงดให้บริการของสายการบิน โดยที่กลุ่มนักเดินทางไทยรอคอยโอกาสที่ประเทศต่างๆ จะกลับมาเปิดให้มี การเดินทางได้อีกครั้งโดยเฉพาะในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและสามารถบริหารจัดการควบคุมการระบาด ของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน (ซึ่งมี 22 มณฑล ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเกินกว่า 100 วัน, ข้อมูล ณ วันที่ 24 กันยายน 2563) ฮ่องกง ไต้หวัน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเช่นเดียวกับประเทศไทย ได้มีมาตรการเปิดรับนักเดินทางที่มาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และนักเดินทางชาวไทยเป็นที่ต้อนรับของหลายประเทศ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขและประชาชนชาวไทยมีความร่วมมือร่วมใจในการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการควบคุมโรคและการระบาดที่แสดงถึงความตระหนักและความรับผิดชอบ ต่อสังคมที่ชัดเจนของผู้คนในประเทศไทย โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นกลไกสำคัญ

       กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จึงได้จัดทำข้อมูลกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และคำแนะนำการเดินทางที่ปลอดภัยสำหรับคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศในช่วงโควิด-19 เพื่อให้ผู้เดินทางเข้าใจถึงค่ามาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขนำมาใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงของประเทศ สำหรับประกอบการตัดสินใจในการเดินทาง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมก่อน ระหว่าง และหลังการเดินทาง ซึ่งจะช่วยให้ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงในการสัมผัสโรค และสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางที่ปลอดภัยให้กับผู้เดินทาง

กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ

              ค่ามาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขนำมาใช้วิเคราะห์ และระบุประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อิงข้อมูลจาก Global advisory council ซึ่งจัดทำ Global Covid 19 Index (GCI) ดำเนินการโดย PEMANDU Associates โดยความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (MOSTI) ประเทศมาเลเซีย และกลุ่ม Sunway ซึ่งได้ใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) นำมาให้ค่าคะแนน และจัดอันดับ 184 ประเทศ ในประเด็นการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้ดีมากน้อยเพียงไร โดยค่าดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) ของแต่ละประเทศเฉพาะมิติ Global Recovery Index เป็นค่าดัชนีที่แสดงถึงการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 หากคะแนนสูง หมายถึง ฟื้นตัวได้ดี โดยประมวลผลจาก
             - คะแนน 70% มาจากตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ 1) จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังดูแลอยู่ (active case)  ต่อประชากร 2) ผู้ที่รักษาหายแล้วต่อผู้ติดเชื้อ 3) จำนวนการตรวจต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ และ 4) จำนวนการตรวจต่อประชากร  
             - คะแนนอีก 30% เป็นคะแนนคงที่ที่ได้มาจากดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (The Global Health Security Index: GHS) ที่ประเมินโดยมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University ประเทศสหรัฐอเมริกาใน 3 หมวดหมู่ คือ 1) ความสามารถในการตรวจพบและรายงานการติดเชื้อ 2) ความสามารถในการตอบสนองอย่างรวดเร็วในการควบคุมโรค และ 3) ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุข ในการรักษาผู้ติดเชื้อ และดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือความสามารถของประเทศที่ใช้ผลการประเมินสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 เช่น ผลการประเมินโดยผู้ประเมินจากภายนอกประเทศร่วมกับผู้ประเมินในประเทศ (Joint External Evaluation Tool - International Health Regulations (2005) : JEE- IHR) โดยเฉพาะในส่วนการตรวจจับ ได้แก่ 1) ระบบห้องปฏิบัติการของประเทศ 2) การเฝ้าระวังโรคแบบเรียลไทม์ 3) การรายงาน 4) การพัฒนากำลังคน และการตอบโต้ ได้แก่ 1) การเตรียมความพร้อม 2) ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน 3) การประสานงานระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขกับหน่วยงานความมั่นคง 4) การส่งและรับความช่วยเหลือด้านยา เครื่องมือแพทย์ และบุคลากรทางแพทย์ และ 5) การสื่อสารความเสี่ยงในการพิจารณาการประเมินความเสี่ยง ระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูล รวมไปถึงการสื่อสาร และการจัดการความเสี่ยงเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้เดินทาง นำคุณลักษณะทั้ง 2 ส่วน ดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อระบุค่า GCI

           จากการใช้ค่ามาตรฐานตาม GCI ในมิติ Global Recovery Index พบว่า ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง ไต้หวัน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย มีค่า GCI > 60 และพบจำนวนผู้ป่วย < 50 ราย (ข้อมูลถึง 1 ตุลาคม 2563) จึงถือเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และปลอดภัยต่อการเดินทางของคนไทยที่มีกิจธุระหรือภารกิจต่างๆ  โดยมีข้อมูลสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของทั้ง 5 ประเทศ และจำนวนผู้เดินทางจากประเทศดังกล่าวที่เข้ามา ในราชอาณาจักรไทยและตรวจพบเชื้อขณะเข้ารับการกักตัวในสถานที่กักกันที่ราชการกำหนด ซึ่งพบว่าสอดคล้องกัน คือ พบผู้เดินทางจากประเทศความเสี่ยงต่ำ มีอัตราการติดเชื้อในผู้เดินทางจากประเทศดังกล่าว ที่ตรวจพบตามมาตรการสาธารณสุขของผู้ถูกกักกัน ดังรายละเอียด ในตารางที่ 1 และ 2

ตารางที่ 1 สถิติที่สำคัญของประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ 5 ประเทศ

ประเทศ

ผู้ติดเชื้อรายใหม่

ผู้ติดเชื้อที่ดูแลอยู่

ผู้ที่รักษาหาย

ผู้เสียชีวิต

ผู้ป่วยทั้งหมด

จำนวน
ประชากร

สาธารณรัฐ
ประชาชนจีน 

11

240

80,748

4,634

85,622

1,439,323,766

ฮ่องกง

8

165

4,932

105

5,202

7,513,995

ไต้หวัน

1

32

491

7

530

23,828,949

นิวซีแลนด์

2

40

1,809

25

1,876

5,002,100

ออสเตรเลีย

16

1,406

25,047

904

27,357

24,582,199

แหล่งที่มา : http://www.worldometers.info (ข้อมูล ณ 15 ตุลาคม 2563, 10.00 น.)

ตารางที่ 2 สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานที่กักกันที่ราชการกำหนดของประเทศไทย

ประเทศต้นทาง

จำนวนผู้เดินทางเข้าสะสม (คน)

จำนวนผู้ติดเชื้อ
สะสม (ราย)

สัดส่วนผู้ป่วยต่อทั้งหมด (ร้อยละ)

อัตราการติดเชื้อของแต่ละประเทศ
(ร้อยละ)

สาธารณรัฐประชาชนจีน 

2,426

1

0.14

0.04

ฮ่องกง

1,883

9

1.24

0.48

ไต้หวัน

5,581

2

0.28

0.04

นิวซีแลนด์

827

0

0.00

0.00

ออสเตรเลีย

3,906

4

0.55

0.10

แหล่งที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (ข้อมูล ณ 15 ตุลาคม 2563)

  • สาธารณรัฐประชาชนจีน

         วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ประเทศจีน พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 11 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยตั้งแต่ วันที่ 23 มกราคม – 15 ตุลาคม 2563 มีผู้ป่วยสะสม จำนวน 85,622 ราย รักษาหาย จำนวน 80,748 ราย และเสียชีวิต จำนวน 4,634 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์และช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์มีผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2563)  

              แหล่งที่มา : http://www.worldometers.info (ข้อมูล ณ 15 ตุลาคม 2563, 10.00 น.)

        มาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

          มาตรการผ่อนปรนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้อำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ด้านธุรกิจเป็นกลุ่มแรก โดยมีข้อกำหนดให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางเข้าสาธารณรัฐประชาชนจีนณ กรุงปักกิ่ง และต้องแสดงผลตรวจโรคโควิด-19 ที่เป็นลบก่อนขึ้นเครื่องบิน และจะต้องเข้ารับการกักตัว  ในสถานที่ที่หน่วยงานรัฐบาลกลางกำหนด เป็นเวลา 14 วัน รวมทั้งการตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.chinaembassy.or.th/th/ หรือ https://thaiembbeij.org/th/

  • ฮ่องกง

        วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ฮ่องกง พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 8 ราย โดยตั้งแต่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ –15 ตุลาคม 2563 มีผู้ป่วยสะสม จำนวน 5,202 ราย รักษาหาย จำนวน 4,932 ราย และเสียชีวิต จำนวน 105 ราย ฮ่องกงผ่านการะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกที่สอง ซึ่งการระบาดระลอกที่หนึ่งเกิดขึ้น ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน และเกิดระบาดระลอกที่สอง ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2563)  

        แหล่งที่มา : http://www.worldometers.info (ข้อมูล ณ 15 ตุลาคม 2563, 10.00 น.)

        มาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของฮ่องกง

          มีการจำกัดประเภทของผู้เดินทาง เช่น ผู้เดินทางชาวฮ่องกง คู่สมรสและบุตรของชาวฮ่องกง ผู้โดยสารที่ถือวีซ่าเข้าใหม่เพื่อทำงาน ศึกษา จัดตั้งหรือเข้าร่วมในธุรกิจ หรือเพื่อพำนักในฮ่องกง ผู้เดินทางทุกคน   ที่เดินทางมาถึงฮ่องกงจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 โดยเก็บตัวอย่างน้ำลาย และรอผลการตรวจในวันเดียวกันก่อนที่จะดำเนินการตรวจคนเข้าเมืองและรับสัมภาระ หรือหากไม่ได้รับผลการตรวจ  ในวันเดียวกันจะถูกนำตัวไปที่ Holding Center for Test Result (HCTR) ในโรงแรมที่จัดไว้เพื่อรอผลการทดสอบ หากผลการทดสอบเป็นลบ ผู้เดินทางจะได้รับอนุญาตให้ออกจากสนามบิน หรือโรงแรม และเดินทางกลับบ้าน หรือไปยังสถานที่ที่กำหนดทันที เพื่อดำเนินการกักกันภาคบังคับ 14 วัน โดยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก https://www.coronavirus.gov.hk/eng/inbound-travel.html

  • ไต้หวัน

วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ไต้หวัน พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 1 ราย โดยตั้งแต่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ –15 ตุลาคม 2563 มีผู้ป่วยสะสม จำนวน 530 ราย รักษาหาย จำนวน 491 ราย และเสียชีวิต จำนวน 7 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2563)  

        แหล่งที่มา : http://www.worldometers.info (ข้อมูล ณ 15 ตุลาคม 2563, 10.00 น.)

        มาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของไต้หวัน

        อนุญาตให้นักธุรกิจจากบางประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเดินทางเข้าไต้หวันได้ โดยผู้ที่เดินต้องแสดงผลไม่พบเชื้อ SARS-CoV-2 ภายใน 3 วัน ก่อนการเดินทาง และยืนยันว่าได้รับเชิญมาจากบริษัทในไต้หวันทั้งนี้ ผู้ที่เดินทางเข้ามายังไต้หวันต้องทำการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน แต่ระยะเวลาในการกักตัวอาจสั้นลงกว่านี้ได้ หากผู้ที่เดินทางเข้ามาจ่ายค่าตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 และมีผลตรวจเป็นลบหรือไม่พบว่าติดเชื้อ โดยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก https://www.boca.gov.tw/cp-220-5081-c06dc-2.html

  • นิวซีแลนด์

วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ประเทศนิวซีแลนด์ พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 2 ราย และผู้เสียชีวิตรายใหม่ โดยตั้งแต่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 15 ตุลาคม 2563 มีผู้ป่วยสะสม จำนวน 1,876 ราย รักษาหาย จำนวน 1,809 ราย และเสียชีวิต 25 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม และลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2563)

            แหล่งที่มา : http://www.worldometers.info (ข้อมูล ณ 15 ตุลาคม 2563, 10.00 น.)

          มาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของประเทศนิวซีแลนด์

        การเดินทางเข้าประเทศนิวซีแลนด์ได้กำหนดให้บุคคลบางกลุ่ม สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ เช่น พลเมืองนิวซีแลนด์หรือผู้มีถิ่นที่อยู่ ผู้มีถิ่นที่อยู่ที่มีเงื่อนไขการเดินทางที่ถูกต้องตามกำหนด คู่ชีวิตหรือบุตรในอุปการะของพลเมืองนิวซีแลนด์หรือผู้มีถิ่นที่อยู่ โดยต้องมีเหตุผลสำคัญในการเดินทาง และได้รับอนุญาตเข้าประเทศจากทางการของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งจะต้องกักกันในสถานที่กำหนดเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน เข้ารับการประเมินสุขภาพ และตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 โดยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก https://www.health.govt.nz/our-work/diseases-and-conditions/covid-19-novel-coronavirus/covid-19-health-advice-general-public/covid-19-self-isolation-close-contacts-and-travellers

  • ออสเตรเลีย

           15 ตุลาคม 2563 ประเทศออสเตรเลีย พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 16 ราย โดยตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ – 15 ตุลาคม 2563 มีผู้ป่วยสะสม จำนวน 27,357 ราย รักษาหาย จำนวน 25,047 ราย และเสียชีวิต จำนวน 904 ราย ออสเตรเลียผ่านการะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกที่สองซึ่งการระบาดระลอกที่หนึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน และเกิดระบาดระลอกที่สอง ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2563)  

            แหล่งที่มา : http://www.worldometers.info (ข้อมูล ณ 15 ตุลาคม 2563, 10.00 น.)

        มาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของประเทศออสเตรเลีย

        เที่ยวบินเข้า-ออกประเทศออสเตรเลียมีจำนวนจำกัดจากประเทศที่ได้รับการยกเว้น และอนุญาตเฉพาะผู้เดินทางบางกลุ่ม การเดินทางด้วยเหตุผลที่น่าเห็นใจ และน่าสนใจ ไม่จำกัดเฉพาะความจำเป็นอันเนื่องมาจากความตายหรือความเจ็บป่วยขั้นวิกฤตของสมาชิกในครอบครัว โดยนักเดินทางต่างชาติและชาวออสเตรเลียที่เข้ามาในประเทศ ต้องกักกันเป็นเวลา 14 วัน ในสถานที่ที่กำหนด เช่น โรงแรมซึ่งออสเตรเลียได้มีข้อยกเว้นในการเปิดให้ชาวนิวซีแลนด์ สามารถเดินทางเข้าเฉพาะพื้นที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ แคนเบอร์รา และดินแดน Northern Territory ได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน และอยู่ระหว่างการหารือกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ในการผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทางหลังสถานการณ์ โควิด-19 ในออสเตรเลียดีขึ้นตามลำดับ ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก https://covid19.homeaffairs.gov.au/travel-restrictions

คำแนะนำการเดินทางที่ปลอดภัยสำหรับคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ ในช่วงโควิด-19

          ในระยะนี้แนะนำให้เดินทางในกรณีที่มีความจำเป็นและมีภารกิจระยะสั้นเฉพาะในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยมีคำแนะนำสำหรับผู้เดินทางเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทาง ระหว่างพำนักอยู่ในต่างประเทศ และหลังการเดินทางกลับ ดังนี้

  • ก่อนเดินทางออกประเทศไทย
  1. ศึกษากฎหมาย ข้อกำหนดในการเดินทางเข้าประเทศปลายทาง และข้อปฏิบัติสำหรับการป้องกันควบคุมโรคขณะพำนักอยู่ที่ประเทศปลายทาง
  2. ติดต่อสถานทูตประเทศปลายทางประจำประเทศไทย เพื่อขอหนังสือรับรองหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าประเทศ
  3. จัดเตรียมเอกสารสำคัญตามข้อกำหนดของประเทศปลายทาง เช่น ผลการตรวจโควิด-19 ใบรับรอง fit to travel และประกันสุขภาพ เป็นต้น
  4. ศึกษาข้อมูลการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงโรคอื่นๆ ในพื้นที่ของประเทศที่เดินทางไป
  5. จัดเตรียมอุปกรณ์หรือสิ่งของที่จำเป็นสำหรับการป้องกันตนเอง และข้อปฏิบัติที่ประเทศปลายทางกำหนด เช่น หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า แอลกอฮอลล์ล้างมือ โทรศัพท์พร้อมซิมที่ใช้ในประเทศนั้น
  6. เตรียมข้อมูลที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ สำหรับติดต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขณะอยู่ต่างประเทศ เช่น หมายเลขโทรศัพท์การแพทย์ฉุกเฉิน และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศนั้น
  7. เตรียมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ตรวจสุขภาพหรือรับวัคซีนก่อนการเดินทาง นอกจากนี้ควรเตรียมยาประจำตัวชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงเอกสารทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น พกบัตรแพ้ยา  ติดตัวไปด้วยเสมอ
  • ระหว่างพำนักอยู่ในต่างประเทศ
  1. ปฏิบัติตัวตามข้อกำหนด และมาตรการป้องกันควบคุมโรคของประเทศปลายทาง เช่น เข้ารับการตรวจโควิด-19 เข้ารับการแยกกัก หรือกักกันในสถานพยาบาลหรือสถานที่กำหนด
  2. เมื่อต้องเดินทางออกจากที่พัก ให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา และล้างมือบ่อยๆ
  3. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด คับแคบ เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น อย่างน้อย 1 เมตร และหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวบุคคลอื่น
  4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีองค์ประกอบของสัตว์ป่า ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ แนะนำให้รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ มีที่ปิดคลุมไม่ให้แมลงวันตอม และดื่มน้ำสะอาดบรรจุขวดที่ได้รับมาตรฐานรวมถึงน้ำแข็งที่ถูกหลักอนามัย
  5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย รวมถึงการให้อาหารสุนัข ค้างคาว แมว ลิง เพื่อระมัดระวังไม่ให้สัตว์เหล่านั้นกัด ข่วน เลีย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค  ที่สำคัญ
  6. บันทึกข้อมูลของสถานที่ที่เดินทางไปเป็นประจำทุกวัน และตลอดเวลาที่พำนักในต่างประเทศ
  7. สังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากมีไข้ ไอ มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์ทันที
  8. ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคในพื้นที่ของประเทศที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ
  • หลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ
  1. ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการเดินทางเข้าประเทศไทย และข้อปฏิบัติสำหรับการป้องกันควบคุมโรคตามข้อกำหนดของประเทศไทย หรือคำแนะนำของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
  2. เดินทางด้วยยานพาหนะที่เตรียมไว้ และเข้ารับการกักกันตัวในสถานที่กักกันทางเลือกที่ผ่านมาตรฐานของประเทศไทย
  3. ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสถานที่กักกันอย่างเคร่งครัด
  4. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน ให้สังเกตอาการทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ รับรสและ กลิ่นลดลง หรือเหนื่อยหอบ เป็นเวลา 14 วันหลังเดินทางถึงประเทศไทย และทำตามมาตรการที่รัฐกำหนด
  5. หลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ อาจมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ เช่น ท้องเสีย อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดปกติหรือเจ็บป่วยใดๆ  ที่รุนแรง หรือเป็นภาวะความผิดปกติที่สงสัยว่าอาจจะเกิดจากการเดินทาง แนะนำให้ไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง