กองโรคติดต่อทั่วไป
Responsive image

Q&A การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มบุคคลต่าง ๆ 

1. บุคคลกลุ่มใดบ้างที่ควรได้รับวัคซีนโควิด 19  

          ตอบ ประชาชนทุกคนควรได้รับวัคซีน แต่ในช่วงที่วัคซีนเริ่มมีใช้จะมีจำนวนจำกัด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดให้วัคซีนในบุคคลกลุ่มเสี่ยงก่อน  ได้แก่

  1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด
  3. ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาดสำหรับกลุ่มอื่นๆ ให้รอประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขในระยะถัดไปๆ

2. กรณีกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว แต่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือเป็นหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร สามารถรับการฉีดวัคซีน โควิด 19 ได้หรือไม่

          ตอบ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษารองรับเกี่ยวกับการให้วัคซีนโควิด 19 ในประชากรที่อายุน้อยกว่า18 ปี กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว จึงยังไม่ได้มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ในช่วงนี้ เว้นแต่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง และแพทย์ประเมินแล้วว่าวัคซีนให้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง

3. ผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีนใดได้บ้าง

          ตอบ ขณะนี้มีการศึกษาวัคซีน  AstraZeneza ในผู้ที่อายุเกิน 65 ปีแล้ว องค์การอนามัยโลกและไทย จึงรับรองให้ใช้ในผู้สูงอายุได้ สำหรับวัคซีนของ Sinovac ยังไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุที่มากเพียงพอ จึงควรฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 18-59 ปี ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน

4. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องควรรับวัคซีนชนิดใด

          ตอบ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวัคซีนใดที่ทำในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างไรก็ดีการให้วัคซีนในผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด 19 รุนแรง อาจต้องชั่งประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์น่าจะมากกว่า ก็สามารถให้วัคซีนได้ โดยให้แพทย์ประจำตัวเป็นผู้พิจารณาเลือกชนิดของวัคซีน