กองระบาดวิทยา
Responsive image

กรมควบคุมโรค เดินหน้าพัฒนาศักยภาพเครือข่ายระบาดวิทยา สร้างองค์ความรู้ ด้านการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าพัฒนาศักยภาพเครือข่ายระบาดวิทยา สร้างองค์ความรู้ด้านการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษ เผยที่ผ่านมา มีรายงานการค้นพบและพิสูจน์ได้ว่า มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษในน่านน้ำทะเลไทย

          วันนี้ (21 พฤษภาคม 2562) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิด การประชุมเชิงปฏิบัติการ "การบูรณาการองค์ความรู้เพื่อการสร้างเครือข่าย" และ "การทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษ" ในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ร่วมกับเครือข่าย 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมแพทย์ทหารเรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยมหิดล

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยค้นพบและพิสูจน์ได้ว่ามีการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษในน่านน้ำทะเลไทย จากรายงานสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2542 – 2558 พบกลุ่มผู้บาดเจ็บรุนแรงจากแมงกะพรุนพิษอย่างน้อย 40-50 ราย และเสียชีวิตจากการสัมผัสแมงกะพรุนพิษ จำนวน 8 ราย เป็นชาวต่างชาติ 6 ราย คนไทย 2 ราย โดยทั้งหมดเกิดจากแมงกะพรุนกล่องชนิดหนวดหลายเส้น และพบว่ากระจายอยู่ใน 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี เพชรบุรี ภูเก็ต ระยอง สตูล สงขลา และสุราษฎร์ธานี

          กรมควบคุมโรค ได้เล็งเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาเรื่องการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษ โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ และการสื่อสารความเสี่ยงกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ฝึกอบรมให้ความรู้ให้ครอบคลุมทุกด้าน รวมไปถึงสร้างและผลิตสื่อในหลากหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับประชากรเป้าหมายแต่ละกลุ่ม สร้างภาคีเครือข่ายชุมชนแมงกะพรุนพิษ เช่น สถานประกอบการโรงแรมและที่พักตากอากาศ สมาคมท่องเที่ยว ชมรมท่องเที่ยว ชมรมมัคคุเทศก์ ชมรมหน่วยกู้ชีพ สื่อสารมวลชน กรมแพทย์ทหารเรือ ครู บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่า ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บรุนแรงและผู้เสียชีวิตจากการสัมผัสแมงกะพรุนพิษเพิ่มอีก

          การประชุมครั้งนี้ นอกจากการทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังมีการมอบโล่เกียรติคุณแก่ผู้มีคุณประโยชน์และสนับสนุนให้กับหลายภาคส่วน อาทิเช่น ศ.คลินิก นพ.นิเวศ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.ดร.พญ.ลักขณา ไทยเครือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.สมชัย บุศราวิช ที่ปรึกษาคณะทำงานสัตว์ทะเลมีพิษประเทศไทย อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งคาดหวังว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้การสื่อสารความเสี่ยง และการกำหนดแนวทางการป้องกันปัญหาและภัยสุขภาพจากแมงกะพรุนพิษอย่างยั่งยืน

 

*******************************************************

ข้อมูลจาก : สำนักระบาดวิทยา / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

โทรศัพท์ 0-2590-3857 วันที่ 21 พฤษภาคม 2562


ข่าวสารอื่นๆ