กองวัณโรค
Responsive image

ก้าวใหญ่ของความสำเร็จ ยุติปัญหาวัณโรค WHO ประกาศไทยพ้นจาก 14 ประเทศที่มีปัญหา วัณโรคสูงทั้ง TB/TB-HIV/MDR-TB

ก้าวใหญ่ของความสำเร็จ ยุติปัญหาวัณโรค WHO ประกาศไทยพ้นจาก 14 ประเทศที่มีปัญหา วัณโรคสูงทั้ง TB/TB-HIV/MDR-TB

                เมื่อปีพ.ศ. 2558 องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้จัดกลุ่มประเทศที่มีภาระปัญหาวัณโรคสูงของโลก (WHO global lists of HBCs for 2016–2020) เป็น 3 กลุ่มๆละ 30 ประเทศ ได้แก่ 1) กลุ่มประเทศที่มีจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคสูง  2) กลุ่มประเทศที่มีจำนวนและอัตราวัณโรคที่ที่สัมพันธ์กับเอชไอวีสูง และ 3) กลุ่มประเทศที่มีจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง โดยประเทศที่มีภาระปัญหาทั้ง 3 นี้จะมีทั้งหมด 14 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีภาระปัญหาวัณโรคสูงทั้ง 3 ด้านนั้น

          ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยกองวัณโรค มุ่งมั่นดำเนินงาน ผลักดันนโยบาย แผนงานในระดับชาติ ตลอดจนกิจกรรมและแนวทางปฏิบัติ โดยได้รับความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ ในการดำเนินงานควบคุมป้องกันวัณโรค โดยมีเป้าหมายหลักคือลดอุบัติการณ์วัณโรค ลดภาระปัญหาด้านวัณโรคของประเทศชาติมาโดยตลอด และในปีพ.ศ. 2560 ประเทศไทยสามารถลดอุบัติการณ์วัณโรคได้มากถึงร้อยละ 10 ซึ่งไม่เคยทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์การดำเนินงานด้านวัณโรคเลย

          จนในที่สุด ก้าวใหญ่ของความสำเร็จก็มาถึง โดยในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศการจัดอันดับกลุ่มประเทศที่มีภาระปัญหาวัณโรคสูงของโลกขึ้นมาอีกครั้ง (WHO global lists of high burden countries for TB, multidrug/rifampicin-resistant TB (MDR/RR-TB) and TB/HIV, 2021–2025) โดยยึดหลักการเดิมคือ แบ่งเป็น 3 กลุ่มๆละ 30 ประเทศ ดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าประเทศไทย ไม่อยู่ในกลุ่ม 30 ประเทศที่มีจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูงแล้ว ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยพ้นจาก 14 ประเทศที่มีภาระด้านวัณโรคสูงในทั้ง 3 กลุ่มตามที่องค์การอนามัยโลกได้จัดไว้เมื่อปี พ.ศ.2558 นั้นแล้ว ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของความสำเร็จด้านการดำเนินงานวัณโรค ถึงแม้ว่าผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในประเทศไทยจะมีจำนวนลดน้อยลงและไม่อยู่ใน 30 ประเทศที่มีภาระปัญหาของโลกก็ตาม แต่ปัญหาวัณโรคและวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี ก็ยังเป็นภาระปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยยังติดโผขององค์การอนามัยโลกอยู่ ดังนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยกองวัณโรค จะยังมุ่งมั่น อย่างตั้งใจดำเนินงาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายของทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการบรรลุเป้าหมายหลักที่สำคัญ ส่งผลให้อุบัติการณ์วัณโรคลดลง พ้นจากกลุ่มประเทศที่มีภาระปัญหาด้านวัณโรคสูงในทุกๆด้าน พร้อมบรรลุเป้าประสงค์ภายใต้เป้าหมายที่ 3 การพัฒนาที่ยั่งยืนด้านวัณโรค (Sustainable Development Goals: SDGs) อันจะนำไปสู่การยุติวัณโรค (END TB TARGETS) ภายในปี พ.ศ. 2578 และเพื่อให้ “เมืองไทยปลอดวัณโรค”ตลอดไป


ข่าวสารอื่นๆ