กองวัณโรค
Responsive image

ครม.ถอด “วัณโรค” ออกจากโรคต้องห้ามรับราชการ

ครม.ถอด “วัณโรค” ออกจากโรคต้องห้ามรับราชการ

.

วันที่ 20 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมานางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าครม.เห็นชอบร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงานก.พ.) เสนอ ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรคฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ.2553 ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน การแก้ไขครั้งนี้ ได้ยกเลิก “โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ” ออกจากลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน เนื่องจากโรควัณโรคมีแนวโน้มที่ลดลง และใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ก็สามารถหายได้ พร้อมกันนี้ ได้เพิ่มโรคจิต(Psychosis) หรือ โรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ เป็นลักษณะต้องห้ามด้วย ส่วนโรคอื่นๆ ยังคงกำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามตามเดิม ได้แก่ โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง ที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ ทั้งนี้ มีผลนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

.

ด้านแพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นเป็นอย่างยิ่งที่คณะรัฐมนตรี ได้เห็นความสำคัญของวัณโรค วัณโรคเป็นโรคทางสังคม ที่ยังเป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุขไทย ยังมีการตีตราและเลือกปฏิบัติ มีความเข้าใจผิด ว่าวัณโรคเป็นโรคที่น่ารังเกียจ โดยทั้งผู้ป่วยเองและสังคม ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยวัณโรคอย่างมาก จึงนับเป็นผลดีที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ยกเลิก โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ ออกจากโรคต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน ตามกฏ ก.พ.ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 เนื่องจากโรควัณโรคมีแนวโน้มที่ลดลง และในที่นี้ แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านวัณโรคแก่ประชาชน ว่าวัณโรคเป็นโรคที่มียารักษา และจะรักษาหายได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยกินยาต่อเนื่องกันทุกวัน หากผู้ป่วยกินยาเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไปก็จะพ้นระยะแพร่กระจายเชื้อ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสน้อยที่จะแพร่กระจายเชื้อไปก่อโรคในคนอื่นๆได้ จึงไม่ควรมีการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยวัณโรค แต่ถ้าผู้ป่วยกินยาไม่ต่อเนื่องหรือขาดการรักษาจะทำให้รักษาไม่หาย และอาจเกิดวัณโรคดื้อยาขึ้นได้ในอนาคต

.

แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ กล่าวต่อ ถึงแม้วัณโรคในประเทศไทย จะมีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ จากรายงานการคาดการณ์ของจำนวนผู้ป่วยวัณโรค ขององค์การอนามัยโลก ในปี พ.ศ. 2554 จาก 120,000 ราย ลดลงเหลือ 105,000 ราย ในปี พ.ศ. 2564 แต่วัณโรคก็ยังเป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุขไทย และทั่วโลก ที่ทุกๆประเทศต้องให้ความสำคัญ ทุ่มงบประมาณ มีแผนการดำเนินงาน มีเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ. 2578 จะต้องลดอัตราอุบัติการณ์ให้เหลือไม่เกิน 10 คนต่อแสนประชากร และในปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญแห่งความสำเร็จของการดำเนินงานในการควบคุมป้องกันวัณโรคของประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศการจัดอันดับกลุ่มประเทศที่มีภาระปัญหาวัณโรคสูงของโลกขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งประเทศไทย ไม่อยู่ในกลุ่ม 30 ประเทศที่มีจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูงแล้ว

.

แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ กล่าวปิดท้าย ดังนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยกองวัณโรค จะยังมุ่งมั่น อย่างตั้งใจดำเนินงาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกระดับ ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการบรรลุเป้าหมายหลักที่สำคัญ ส่งผลให้อุบัติการณ์วัณโรคลดลง พ้นจากกลุ่มประเทศที่มีภาระปัญหาด้านวัณโรคสูงในทุกๆด้าน พร้อมบรรลุเป้าประสงค์ภายใต้เป้าหมายที่ 3 การพัฒนาที่ยั่งยืนด้านวัณโรค (Sustainable Development Goals: SDGs) ปี พ.ศ.2573 อันจะนำไปสู่การยุติวัณโรค (END TB TARGETS) ภายในปี พ.ศ. 2578 และเพื่อให้ “เมืองไทยปลอดวัณโรค โลกปลอดวัณโรค”ตลอดไป

.

#StopTBpartnership

#WorldHealthOrganization

#WHO

#tuberculosis

#EndTB

#กองวัณโรค

#INVESTTOENDTBSAVELIVES

#ร่วมพลังต่อชีวิตเพื่อภารกิจยุติวัณโรค

#รู้เร็วรีบรักษายุติปัญหาวัณโรค

#รู้เร็วรักษาหายไม่แพร่กระจาย

 


ข่าวสารอื่นๆ