สถาบันเวชศาสตร์ป้องกันศึกษา
Responsive image

สธ. ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ปี 2563 “เอาชีวิตรอดได้ ช่วยเป็น พื้นที่เล่นปลอดภัย เด็กไม่จมน้ำ”

          กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ปี 2563 ภายใต้แนวคิด “เอาชีวิตรอดได้ ช่วยเป็น พื้นที่เล่นปลอดภัย เด็กไม่จมน้ำ” หวังเด็กไทยมีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ มีทักษะการเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำ ช่วยเหลือคนตกน้ำอย่างถูกต้อง และมีพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัยแก่เด็กแต่ละวัย พร้อมจัดการแข่งขันการโยนเชือกช่วยคนตกน้ำครั้งแรกของประเทศไทย

          วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2562) ที่สระว่ายน้ำองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรีดร.นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพันตำรวจเอกธงชัย เย็นประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี  และ ผศ.ดร.อิทธิกร ขำเดช นายกสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ  ร่วมแถลงข่าวกิจกรรมวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ปี 2563 ภายใต้แนวคิด “เอาชีวิตรอดได้ ช่วยเป็น พื้นที่เล่นปลอดภัย เด็กไม่จมน้ำ” หรือ “Safety Zone...Safety Skills” Stop Drowning !!

          ดร.นายแพทย์ปรีชา กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ ทั้งโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ โดย 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553-2562) เด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำไปแล้ว 8,394 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 839 ราย หรือวันละ 2 ราย และล่าสุดในปี 2562 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 550 ราย ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) เป็นช่วงที่เกิดเหตุจมน้ำสูงสุด ร้อยละ 36.2 ของการจมน้ำเสียชีวิตทั้งปี  ทั้งนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กที่จมน้ำจะเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ เพราะตั้งแต่เด็กตกลงไปในน้ำจนจมอยู่ใต้น้ำจะใช้เวลาเพียง 4 นาที ก็ทำให้สมองขาดออกซิเจนและเสียชีวิตได้    และพบว่าการจมน้ำของเด็ก โดยเฉพาะอายุ 5-14 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำ และเมื่อเพื่อนคนหนึ่งตกน้ำ เพื่อนคนที่ว่ายน้ำเป็น มักจะกระโดดลงน้ำไปช่วย ทำให้บ่อยครั้ง มักพบเด็กจมน้ำพร้อมกันครั้งละหลายๆ คน

          กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำมาอย่างต่อเนื่อง (ตั้งแต่ปลายปี 2549) ทำให้จำนวนการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กค่อยๆ ลดลงอย่างชัดเจน จากเดิมเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1,500 คน ปัจจุบันในปี 2562 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 550 คน (ลดลงถึงร้อยละ 63.3) ซึ่งที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และจิตอาสา ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำในมาตรการต่างๆ ทั้งกลยุทธ์ผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในสถานบริการสาธารณสุข การจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อให้เกิดความปลอดภัย การสอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด การรณรงค์และสื่อสารประชาสัมพันธ์ การผลักดันให้เกิดกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ เป็นต้น

          ดร.นายแพทย์ปรีชา กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ โดยในปี 2563 นี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 7 มีนาคม และได้กำหนดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แนวคิด “เอาชีวิตรอดได้ ช่วยเป็น พื้นที่เล่นปลอดภัย เด็กไม่จมน้ำ” ดังนี้ 1.เอาชีวิตรอดได้ คือเมื่อตกน้ำ อย่าตกใจ ตั้งสติ ลอยตัวเปล่าหรือลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้เพื่อรอคนมาช่วย  2.ช่วยเป็น คือช่วยให้ถูกวิธี ไม่กระโดดลงไปช่วย แต่ให้ช่วยด้วยวิธีที่ปลอดภัยคือ “ตะโกน โยน ยื่น” และ 3.พื้นที่เล่นปลอดภัย คือครอบครัว ชุมชน และผู้ประกอบการ ร่วมกันจัดพื้นที่เล่นและพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัยให้แก่เด็กแต่ละวัย  ทั้งนี้ ในปีนี้กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี และสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ จัดกิจกรรมแข่งขันการโยนเชือกช่วยคนตกน้ำครั้งแรกของประเทศไทย ชิงถ้วยรางวัลจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเงินรางวัลรวม 20,000 บาท โดยมีทีมเข้าร่วมแข่งขัน 76 ทีมจากจังหวัดต่างๆ แบ่งเป็นประเภทอายุ 6-9 ปี จำนวน 32 ทีม และประเภทอายุ 10-14 ปี จำนวน 44 ทีม

          ด้านพันตำรวจเอกธงชัย กล่าวว่าปัจจุบันจังหวัดนนทบุรีมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณ 1.8 แสนคน หรือประมาณร้อยละ 15 ของทุกกลุ่มอายุ โดยจังหวัดนนทบุรีมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) ถึง 29 ราย เฉลี่ยปีละเกือบ 6 ราย โดยช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนปีที่แล้ว มีเด็กวัยเรียนจมน้ำเสียชีวิตถึง 3 ราย (อายุ 6, 11, 12 ปี) อย่างไรก็ตาม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี มีนโยบายสำคัญที่จะดำเนินการให้มีความครอบคลุมในเรื่องดังกล่าว โดยจะให้เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป สามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้ โดยเด็กวัยเรียนทุกคนจะต้องมีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ มีทักษะการเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำ และเมื่อเห็นคนตกน้ำสามารถช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง โดยไม่กระโดดลงไปช่วยเพราะอาจถูกกอดรัดจนจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันได้  ซึ่งเชื่อมั่นว่าหน่วยงานภาคท้องถิ่นทุกแห่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และสามารถสนับสนุนการดำเนินงานได้ ทั้งการพัฒนาครูผู้สอน การให้เด็กเข้าถึงสระ การจัดพื้นที่เล่นของเด็กให้มีความปลอดภัย และการพัฒนาสิ่งแวดล้อมบริเวณแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองและที่เราขุดขึ้นมาสำหรับกักเก็บน้ำ ให้มีความปลอดภัย

          ส่วน ผศ.ดร.อิทธิกร กล่าวว่า การโยนเชือกช่วยคนตกน้ำ เป็นการแข่งขันที่มีการแข่งขันกันในระดับสากล มีกติกาประกอบด้วย ผู้เข้าแข่งขัน 2 คน หนึ่งคนเป็นผู้โยนเชือกช่วย และอีกหนึ่งคนเป็นผู้ประสบภัยทางน้ำอยู่ในน้ำ ระยะทางในการแข่งขันคือ 12.5 เมตร ซึ่งมีรายละเอียดของกติกาค่อนข้างมาก และในการแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งขันของเด็กอายุ 6-14 ปี จึงใช้ระยะทางเพียง 10 เมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเผยแพร่ให้เด็กรู้วิธีการช่วยคนตกน้ำที่ถูกต้อง โดยไม่กระโดดลงไปช่วย ซึ่งเป็นการแข่งขันของเด็กและเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ดังนั้นกติกาบางข้ออาจจะมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งอาจไม่เข้มข้นมากเท่ากับการแข่งขันในระดับโลกอย่างไรก็ตาม ทางสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคมด้านความปลอดภัยทางน้ำระดับโลก มีแผนที่จะจัดการแข่งขันโยนเชือกช่วยคนตกน้ำสำหรับประชาชนทั่วไป ตามกติกาการแข่งขันระดับสากล และเพื่อคัดเลือกนักกีฬาสำหรับส่งเข้าแข่งขันในระดับโลก ต่อไป  

*********** ข้อมูลจาก:กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค/วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563


ข่าวสารอื่นๆ