สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่
Responsive image

“สคร.๑ เชียงใหม่ เตือนประชาชน ระวังไข้เลือดออก ทุกฤดูกาล แนะประชาชนใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ป้องกันโรคจากยุงลาย”

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เตือนประชาชน ระวังไข้เลือดออกระบาดทุกฤดูกาล แนะประชาชนใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ป้องกันโรคจากยุงลาย

แพทย์หญิงเสาวนีย์ วิบุลสันติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่าถึงแม้ไม่ใช้ฤดูฝน โรคไข้เลือดออกก็ยังระบาดมากในหลายพื้นที่ ปัจจุบันโรคไข้เลือดออก มีการระบาดกระจายไปทั่วประเทศ ทุกจังหวัด การกระจายของโรคมีการเปลี่ยนแปลงตามพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2564 เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการของโรคโควิด 19 ให้ประชาชนสามารถเดินทาง และไปทำกิจกรรมในสถานที่สาธารณะได้มากขึ้น จึงมีความเสียงของโรคไข้เลือดออกจะสูงขึ้นในช่วงปลายปี และทำให้เกิดการระบาดต่อเนื่องไปตลอดปี พ.ศ. 2565 หากไม่ได้มีการป้องกันโรคแต่เนิ่น ๆ จากการพยากรณ์แนวโน้มการเกิดโรคไข้เลือดออกด้วยวิธีอนุกรมเวลาพบว่า ปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยจะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยจำนวนผู้ป่วยตลอดทั้งปีประมาณ 95,000 ราย โดยช่วงไตรมาสแรกของปีจะมีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 3,000 – 4,000 รายต่อเดือน และเริ่มสูงขึ้นในเดือนพฤษภาคม จนสูงที่สุดในช่วง ฤดูฝนเดือนมิถุนายน - กันยายน ซึ่งอาจมีผู้ป่วย 10,000 – 16,000 รายต่อเดือน จากสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในเขตสุขภาพที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –  26 กุมภาพันธ์ 2565  พบผู้ป่วย สะสม 54 ราย อัตราป่วย 2.10 ต่อประชากรแสนคน ขณะนี้ยังไม่มีรายการผู้ป่วยเสียชีวิต จังหวัดที่พบผู้ป่วยสะสมมากที่สุด คือจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 44 ราย อัตราป่วย 15.47 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาจังหวัดเชียงราย 4 ราย อัตราป่วย 0.31 ต่อประชากรแสนคน  จังหวัดน่าน จำนวน 4 ราย อัตราป่วย 0.84 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดลำปาง จำนวน 1 ราย อัตราป่วย 0.14 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 ราย อัตราป่วย 0.06 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดพะเยา แพร่ ลำพูน ขณะนี้ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วย

แพทย์หญิงเสาวนีย์ กล่าวต่อว่า ขอความร่วมมือประชาชน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งในบ้าน รอบๆ บ้านและในชุมชน โดยคนในครอบครัวและคนในชุมชนลงมือกำจัดเอง ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการทำลายให้เพราะลูกน้ำยุงลายมีการฟักเป็นตัวเต็มวัยที่เร็ว โดยให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันในเรื่องนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนใช้มาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่อง สัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำสำรวจภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่หรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

          ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด 19  ขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย ดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากมีอาการไข้สูง ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้เฉพาะยาพาราเซตามอล โดยห้ามใช้ยากลุ่ม NSAID (non-steroidal anti-inflammatory drug) เช่น ยาแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน เพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม  ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


ข่าวสารอื่นๆ