สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี
Responsive image

สคร.10 อุบลฯเตือนผู้ปกครอง ระวัง โรคมือ เท้า ปาก ระบาดช่วงหน้าหนาว เน้นวิธีป้องกันดีกว่ารักษา

วันที่ 26 พ.ย. 62 นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี  เปิดเผยว่า โรคมือ เท้า ปาก มักจะแพร่ระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาว และจะพบผู้ป่วยเพิ่มในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์  สคร.10 อุบลฯ มีความเป็นห่วงพิเศษ จึงเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในการป้องกันโรค และประสานความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น อบต. ผู้บริหารโรงเรียนในการดูแลพื้นที่เสี่ยงสำคัญ คือ ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอ­­นุบาล ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก ให้ครูตรวจไข้เด็กทุกวันตอนเช้า หากพบมีไข้ มีตุ่มใสขึ้นตามมือ ในปาก ขอให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคมือเท้าปาก ให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อควบคุมป้องกันโรค

นายแพทย์ดนัย กล่าวต่ออีกว่า โรคมือ เท้า ปาก มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโรคนี้จะติดต่อกันและเข้าทางปาก โดยเชื้อติดมากับมือที่สัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วย และอุจจาระของผู้ป่วย อาการป่วย จะเริ่มจากมีไข้ มีตุ่มแดงขึ้นในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปาก ไม่อยากทานอาหาร ตุ่มอาจพบที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้น หัวเข่าได้เช่นกัน ตุ่มมักไม่คัน แต่กดจะเจ็บ ต่อมาตุ่มจะแตกเป็นหลุมตื้นๆ อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7-10 วัน ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99 อาการจะหายได้เอง

สำหรับในพื้นที่ 5 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 10 สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 5018 ราย แยกเป็นรายจังหวัด คือ จ.อุบลราชธานี 2505 ราย จ.ศรีสะเกษ 1362 ราย จ.ยโสธร 415 ราย จ.อำนาจเจริญ 255 ราย และจ.มุกดาหาร 481 ราย จึงต้องเร่งรณรงค์ให้ความรู้และย้ำเตือนให้ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็กเล็ก ในศูนย์รับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล เฝ้าระมัดระวังสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว

“วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ห่างไกลโรคมือ เท้า ปาก คือ รักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน และ ใช้ช้อนกลางเมื่อกินอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรหลีกเลี่ยงการไปสถานที่สาธารณะ ทั้งนี้ โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก ผู้ป่วยควรนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ผู้ดูแลควรเช็ดตัวให้เด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ๆ ไม่ร้อนจัด ดื่มน้ำ นม และน้ำผลไม้แช่เย็น เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”


ข่าวสารอื่นๆ