สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา
Responsive image

สคร.12 สงขลา เตือน ปชช. หน้าฝน ระวัง "โรคอาหารเป็นพิษ” แนะ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ 

สคร. 12 สงขลา เตือน ปชช. หน้าฝน ระวัง  “โรคอาหารเป็นพิษ”  แนะ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ 

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนประชาชน หน้าฝน ระวัง “โรคอาหารเป็นพิษ” เน้นย้ำ ประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และ “กินสุก ร้อน สะอาด” ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ  โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีช่วงเวลาของฤดูฝนยาวนานกว่าภาคอื่นๆ ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารอย่างโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากน้ำเป็นตัวนำพาสำคัญ ที่ทำให้สารพิษหรือเชื้อโรคต่างๆ สามารถปนเปื้อนเข้าสู่อาหารได้ 
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 ตุลาคม 2563 ว่า สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) จำนวนทั้งสิ้น 1,443 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต พบผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย  โดยพบเพศหญิง 909 ราย เพศชาย 534  ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อายุ 0 – 4 ปี รองลงมาคืออายุ 5 - 9 ปี และ อายุ 25 - 34 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคือจังหวัดสงขลา อัตราป่วยเท่ากับ 49.93  ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ จังหวัดตรัง, สตูล, ปัตตานี, ยะลา,นราธิวาส, พัทลุง, อัตราป่วยเท่ากับ  43.1, 36.41, 23.36, 17.66, 15, 12.67 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ   
ผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จะมีการอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดบิด อุจจาระร่วง ถ่ายเป็นมูก หรือมูกเลือด การดูแลเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการดื่มผงละลายเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการต่างๆข้างต้นไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ และหากเป็นไปได้ควรนำอาหารที่สงสัยที่เหลือจากการรับประทานไปด้วยเพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจหาเชื้อและสารพิษได้
สำหรับประชาชนควรยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และ “กินสุก ร้อน สะอาด” ปรุงอาหารต้องปรุงให้สุกทั่วถึง หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ใช้การลวก กินอาหารขณะที่อาหารยังร้อน ปรุงสุกใหม่ ไม่ควรเก็บไว้กินข้ามมื้อ อาหารที่ซื้อมาแล้วยังไม่กิน ต้องเก็บในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนทั่วถึงก่อนกิน รวมทั้งเลือกร้านค้าที่มีที่ปรุง ที่นั่งกิน และบริเวณรอบ ๆ สะอาด ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ สำหรับน้ำดื่ม อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูปควรเลือกที่มีเลข อย.กำกับก่อนและที่สำคัญกินอาหารให้พิจารณา สี กลิ่น รส เป็นปกติหรือไม่ ส่วนผู้ประกอบการ ควรทำความสะอาดร้านค้าหรือตลาดทุกๆ 2 สัปดาห์ และการกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคอาหารเป็นพิษสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

  
ข่าวโดย: กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สคร.12 สงขลา 
โทรศัพท์ : 0-7433-6079-81,83 ต่อ 29 E-mail: pr_dpc12@hotmail.com (15 ตุลาคม 2563) 
 

 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ