สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา
Responsive image

สคร.12 สงขลา เน้นย้ำ “รู้เร็ว รีบรักษา ยุติปัญหาวัณโรค” เนื่องในวันวัณโรคสากล 2565

สคร.12 สงขลา เน้นย้ำ “รู้เร็ว รีบรักษา ยุติปัญหาวัณโรค” เนื่องในวันวัณโรคสากล 2565

24 มีนาคมของทุกปี เป็นวันวัณโรคสากล (World TB Day) ในปี 2565 ได้รณรงค์ภายใต้แนวคิด          “ร่วมพลัง ต่อชีวิต เพื่อภารกิจยุติวัณโรค” (Invest To End TB, Save Lives) วัณโรคยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่ม 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง การดำเนินงานเพื่อยุติวัณโรคให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกระดับสู่จุดมุ่งหมายอันสูงสุด (Vision) คือ “เมืองไทยปลอดวัณโรคเพื่อโลกปลอดวัณโรค” (TB-Free Thailand For TB-Free World)

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า  สถานการณ์โรควัณโรคในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง หรือเขตสุขภาพที่ 12 คาดประมาณว่า ในปี 2565 จะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ และกลับเป็นซ้ำ ประมาณ 7,400 ราย แต่ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 16 มีนาคม 2565 มีผู้ป่วยวัณโรคขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 1,617 ราย แสดงว่ายังมีผู้ป่วยจำนวนมากยังไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา และกำลังแพร่เชื้ออยู่ในชุมชน  

วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis หรือเรียกสั้นๆ ว่า TB เป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบบ่อย คือ วัณโรคปอด ติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอากาศ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ทำให้เชื้อกระจายอยู่ในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาเชื้อเข้าไป ก่อให้เกิดการติดเชื้อและป่วยได้ การรักษาวัณโรคใช้เวลาค่อนข้างนานอย่างน้อย 6 เดือน กรณีวัณโรคดื้อยาที่ใช้สูตรยาระยะสั้นไม่ได้ ต้องรักษาอย่างน้อย 18 เดือน

การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรค ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ป้องกันตนเองโดยสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อ หรือเมื่ออยู่ในชุมชน สำหรับผู้ป่วยวัณโรคให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อวัณโรคสู่ผู้อื่น และต้องกินยาให้ครบถ้วนสม่ำเสมอทุกวันจนครบระยะเวลาตามแพทย์สั่ง  

หากมีอาการใดอาการหนึ่งต่อไปนี้ 1.ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ 2.ไอมีเสมหะปนเลือด สามารถติดต่อหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจรักษา ทั้งนี้ผู้ป่วยวัณโรคในระยะเริ่มแรก อาจไม่มีอาการใดๆ

กลุ่มเสี่ยงวัณโรค ได้แก่ กลุ่มผู้อาศัยร่วมบ้าน หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์, ผู้สูงอายุ > 65ปี ที่มีโรคร่วม เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง  ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน, ผู้ต้องขังในเรือนจำ, ผู้ติดสารเสพติด และบุคลากรสาธารณสุข ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปี 1 ละครั้ง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการก็ตาม

สำหรับวันวัณโรคสากลในปีนี้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา โดยงานวัณโรค ศูนย์วัณโรคที่ 12  จังหวัดยะลา ได้จัดกิจกรรมรณรงค์โดยใช้รถประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้เรื่องวัณโรคแก่ประชาชน ในพื้นที่จังหวัดยะลา และเผยแพร่สปอตวิทยุ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างวันที่ 21– 31 มีนาคม 2565  พร้อมเน้นย้ำ ร่วมกัน “เร่งค้นหา ดูแลรักษาให้หาย” และร่วมประชาสัมพันธ์ “วัณโรค รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย ไม่ตีตรา” ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422    

 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ