สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา
Responsive image

สคร.12 สงขลา เตือน โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย แนะ ยึดหลัก 3 ป.

สคร.12 สงขลา เตือน โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย แนะ ยึดหลัก 3 ป.

สำนักงาน ป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนประชาชน หน้าร้อน ระวัง “โรคพิษสุนัขบ้า   ติดเชื้อถึงตาย แนะยึดหลัก 3 ป.” ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา     กล่าวว่า ปี พ.ศ.2565 ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 1 รายในจังหวัดชลบุรี  สำหรับ   ภาคใต้ตอนล่างพบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จำนวน 11 หัว ได้แก่ จังหวัดสงขลา จำนวน 10 หัว จังหวัดพัทลุง จำนวน 1 หัว และระหว่าง วันที่ 20 มีนาคม - 19 เมษายน 2565 จังหวัดสงขลาพบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์มากที่สุดของประเทศไทย จำนวน 3 หัว รองลงมาได้แก่จังหวัดชลบุรี จำนวน 1 หัว และจังหวัดพะเยา จำนวน 1 หัว

โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies virus) เป็นโรคติดต่อจากการถูกสัตว์เลือดอุ่น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีรอยแผล รอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์ที่เป็นตัวนำโรคที่สำคัญ คือ สุนัข แมว และอาจพบในสัตว์อื่น ๆ เช่น กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี หนู ลิง เป็นต้น ส่วนใหญ่เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการหลังจากรับเชื้อ 15 – 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี อาการเริ่มแรกของผู้ป่วย คือปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น นอกจากนี้จะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสงกลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง มีอาการกลืนลำบาก ทำให้ไม่อยาก ดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตภายใน 2 –  7 วันนับจากวันเริ่มแสดงอาการ    

สคร.12 สงขลา แนะพี่น้องประชาชนป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า ยึดหลัก 3 ป. คือ ปอที่ 1 คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค โดยการนำสัตว์ไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน และกระตุ้นซ้ำอีก 1 ครั้ง เมื่ออายุ 6 เดือนหรือ 1 ปี หรือตามที่แพทย์นัด และปีถัดไปฉีดกระตุ้นซ้ำ ปีละ 1 ครั้ง ทุกปี รวมไปถึงทำหมันถาวรเพื่อไม่ให้มีสุนัขมากเกินความต้องการ และหากสัตว์เลี้ยงตายผิดปกติ ขอให้แจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ หรือส่งซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อ ปัจจุบันส่งได้ทั้งตัวไม่ต้องตัดหัว ได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตวแพทย์ ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช

 ปอที่ 2 คือ ป้องกันการถูกกัด โดยไม่ปล่อยสุนัขแมวออกนอกบ้านตามลำพัง หากต้องพาออกไปนอกบ้านให้ใส่สายจูง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดด้วยคาถา 5 ย. คือ 1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ  

ปอที่ 3 ป้องกันหลังถูกกัด ด้วยการล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ อย่างเบามืออย่างน้อย 10 นาที จากนั้น ใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล (เบตาดีน) และรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อพิจารณาการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหากได้รับวัคซีนต้องฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด ทั้งนี้เมื่อถูกสัตว์ กัด ข่วนแล้วไม่ไปรับวัคซีน หากมีอาการของโรคจะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้สำหรับการรักษา แต่โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ป้องกันด้วยวัคซีน และจะต้องกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เน้นย้ำ “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ”

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค

 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ