สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี
Responsive image

Strong ไปกับสคร.4 ตอน “วันวิสาขบูชา งดเหล้า ไม่เมา ไม่เสี่ยงโควิด-19”

สคร.4 จังหวัดสระบุรี ชูประเด็น วันวิสาขบูชา 1 ใน 5 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งขายส่งและขายปลีกทั่วราชอาณาจักร ตลอด 24 ชั่วโมง

วันวิสาขบูชา คือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ตรงกับวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ จะเข้าวัด ถือศีล ปฏิบัติธรรม และเป็นวันสำคัญในการรณรงค์งดเหล้าวันพระใหญ่ “การละเว้นการเสพสุรา เป็นข้อหนึ่งในศีล 5 การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำมาซึ่งความประมาทเพราะเมาแล้วขาดสติยั้งคิด และยังมีโทษต่ออวัยวะภายในของร่างกาย และทำให้ตายก่อนวัยอันควร  ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ 5 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา

แพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี (สคร. 4 สระบุรี) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน  มีข้อมูลจากงานวิจัยสนับสนุนว่าแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุเพิ่มความเสี่ยงในโรคติดเชื้อ  อาทิ วัณโรคปอด ปอดบวม โรคติดเชื้อในปอด ส่วนเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในปอดได้เช่นกัน  ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีโอกาสรับเชื้อง่ายกว่าคนปกติ  การตั้งวงดื่มเหล้ากับเพื่อนหรือเที่ยวในสถานบันเทิงยิ่งเสี่ยงหนัก หากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแค่หายใจ หรือหยิบจับภาชนะร่วมกันก็ติดเชื้อได้  ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาอันสมควรที่จะเลิกเหล้าและบุหรี่ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19   สคร. 4 สระบุรี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้

มาตรการประชาสัมพันธ์  1.กลุ่มประชาชนทั่วไป ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะภาวะพิษของแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออวัยวะในร่างกายหลายระบบและทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง  เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ  2.กลุ่มผู้ดื่มสุรา แนะนำให้ลด ละ เลิกการดื่มสุรา  เนื่องจากพิษของสุรามีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจมีอาการติดเชื้อรุนแรงกว่าคนในภาวะปกติ  และหากตั้งใจหยุดดื่มสุราให้หลีกเลี่ยงสถานการณ์ สถานที่ และปัจจัยแวดล้อมที่สนับสนุนการดื่ม  3.กลุ่มผู้มีปัญหาการดื่มสุราหรือผู้ติดสุรา  แนะนำค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มสุราลง  เพื่อป้องกันอันตรายจากการหยุดดื่มกะทันหัน  และควรมีการประเมินความเสี่ยงภาวะถอนพิษสุราของตนเอง  โดยโทรสอบถามสถานพยาบาลใกล้บ้านหรือที่รักษาประจำ  สังเกตอาการของตนเอง เช่น มือสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว กระวนกระวาย อีกทั้งดูแลกิจวัตรประจำวันปกติ ได้แก่ การล้างมือ การทำความสะอาดร่างกาย  รับประทานอาหารให้อิ่มเพื่อลดการอยากดื่มสุรา  พักผ่อนให้เพียงพอ  หากมีโรคประจำตัวควรรับประทานยาตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด  จะได้ไม่ต้องป่วยจนนอนโรงพยาบาล  เป็นการป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 ด้วย  4.ญาติ ผู้ใกล้ชิด หรือผู้ดูแล สังเกตอาการ กรณีถ้าผู้ที่หยุดดื่มกะทันหัน หากมีอาการมือสั่น อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว กระวนกระวาย สับสน ชัก มีภาวะหมดสติหรือวิกฤติฉุกเฉิน ให้รีบพาไปโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาโดยด่วน และการระวังการเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายในกรณีผู้ติดสุรามีภาวะชัก เช่น  การล้มหรือการสำลักระหว่างการชัก  ด้านสถานพยาบาลดำเนินการ 1.จัดให้มีระบบประเมินความเสี่ยงและบำบัดรักษาภาวะถอนพิษสุราของผู้ติดสุรา 2.จัดระบบปรึกษาทางโทรศัพท์หรือออนไลน์ 3.จัดระบบให้รับยาใกล้บ้าน หรือระบบส่งยาเพื่อให้ผู้ป่วยไม่ขาดยา สำหรับผู้ป่วยติดสุราที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง 

แพทย์หญิงวรยา  กล่าวต่อว่า  ในช่วงเวลาปกติกฎหมายได้กำหนดให้การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 2 ช่วงเวลา คือช่วงเวลา 11.00 – 14.00 น. และช่วงเวลา 17.00 - 24.00 น. ของทุกวัน แต่กรณีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาทั้ง 5 วัน ห้ามขายตลอด 24 ชั่วโมง  ทั้งนี้สถานประกอบการร้านค้าอาจจัดทำป้ายงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แสดงเด่นชัดบริเวณหน้าร้านเพื่อเป็นการแจ้งลูกค้าให้ทราบ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มาตรา 39 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ดังนั้นหากพบการกระทำผิดสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดได้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ https://tas.go.th    

แพทย์หญิงวรยา  กล่าวทิ้งท้ายว่า  ข้อดี ของช่วงที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินและมีการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า มีประชาชนสามารถเลิกเหล้าได้อย่างปลอดภัยจำนวนมาก  รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุลดลงและจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด  จึงขอให้วันวิสาขบูชา  เป็นวันที่ผู้ประกอบการร่วมทำบุญโดยไม่จำหน่ายสุราตลอด 24 ชั่วโมง ในวันพระใหญ่  และเป็นวันที่ผู้ดื่มสามารถละเว้นหรือเลิกดื่มสุราได้

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านหรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422  หากต้องการเลิกเหล้าปรึกษาได้ที่ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา หรือสายด่วนเลิกเหล้า 1413

กลุ่มโรคไม่ติดต่อ และกลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ 

 

 Facebook : https://www.facebook.com/ dpc4saraburi

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ