สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี
Responsive image

Strong ไปกับสคร.4 ตอน “สคร.4 เร่งประชาสัมพันธ์ป้องกัน เด็กจมน้ำช่วงปิดเทอม”

สคร.4 จังหวัดสระบุรี รณรงค์การป้องกันเด็กจมน้ำ ตามประเด็นสาร บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม  : ป้องกันเด็กจมน้ำ

การจมน้ำเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งซึ่งมากกว่าทุกสาเหตุ ทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ จากข้อมูลเบื้องต้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.2551–2560) พบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 904 คนต่อปี หรือวันละ 2.5 คน  ในช่วงเดือนมีนาคม–พฤษภาคม เป็นเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เพราะตรงกับช่วงปิดภาคการศึกษาและเป็นช่วงฤดูร้อน  กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15ปีให้ลดลงเหลือ 3.0ต่อประชากรเด็กแสนคน(ประมาณ360คน) ภายในปี2564 ซึ่งปัจจุบัน (ปี2560) อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 6.3 (717คน) โดยกำหนดวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 2 มีนาคม 2562 กำหนดประเด็นสาร คือ บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม  : ป้องกันเด็กจมน้ำ

พญ.วรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี(สคร.4) เปิดเผยสถานการณ์เด็กจมน้ำในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4  ปีพ.ศ.2560 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตจำนวน 46 คน คิดเป็นอัตรา 5.2  ต่อประชากรเด็กแสนคน จังหวัดพื้นที่เสี่ยงมาก (พื้นที่สีแดง) ได้แก่ สระบุรี  สิงห์บุรี นครนายก  จังหวัดพื้นที่เสี่ยงปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพื้นที่เสี่ยงน้อย (พื้นที่สีเขียว) ได้แก่ นนทบุรีปทุมธานี อ่างทอง ลพบุรี

พญ.วรยา กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงจากการจมน้ำมีความแตกต่างกันใน 2 ช่วงอายุ ดังนี้

1) ช่วงอายุ 5 ปีขึ้นไป  เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากแหล่งน้ำในชุมชน  ในช่วงปิดเทอมหรือช่วงหน้าร้อนเด็กมักออกไปเล่นน้ำนอกบ้านตามแหล่งน้ำในชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง มีกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยวทะเล น้ำตก แม่น้ำ  คูคลอง โดยเดือนที่อันตรายเป็นอันดับหนึ่งคือเมษายน รองลงมาเป็นเดือนมีนาคมกับพฤษภาคม และเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน  สาเหตุเกิดจากปัจจัยด้านตัวเด็กเองที่มักชวนกันไปเล่นน้ำ  ไม่มีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ  ไม่มีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำและวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง  ยิ่งในช่วงวัยรุ่นเป็นวัยชอบลอง ไม่ระวังเรื่องความเสี่ยง และมักมีพฤติกรรมเสี่ยงร่วมด้วย เช่น เมาเหล้าแล้วเล่นน้ำ ว่ายน้ำกลางคืน ช่วยเหลือเพื่อนผิดวิธี  ดังนั้นการป้องกันการจมน้ำตายสำหรับเด็กกลุ่มนี้  คือ ต้องฝึกให้เด็กเรียนรู้และมี “ทักษะความปลอดภัยทางน้ำ” ตั้งแต่ยังอยู่ในช่วงเด็กประถมจะทำให้มีความเสี่ยงในช่วงวัยรุ่นลดลง  ฝึกให้ผู้เห็นเหตุการณ์รู้จักวิธีให้การช่วยเหลือและกู้ชีพที่ปลอดภัยตามขั้นตอนที่จำง่ายคือ “ตะโกน โยน ยื่น”หมายถึง  เมื่อพบคนตกน้ำ ขั้นแรกให้ตะโกนขอความช่วยเหลือ จากนั้น โยน อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น ถังแกลอนพลาสติกเปล่าให้จับ หรือ ยื่น อุปกรณ์ให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เชือก เสื้อ กางเกง ผ้าขาวม้า เข็มขัด แล้วสาวไม้ดึงเข้าหาฝั่ง  ชุมชนสามารถมีส่วนร่วมในพื้นที่ของตนเองได้โดยการสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง จัดทำป้ายเตือน  แนวกั้นขอบบ่อไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำที่หาได้ง่ายที่ใกล้ๆ บริเวณแหล่งน้ำ เช่น ถัง แกลลอนพลาสติก นกหวีด ไม้ยาว เสื้อชูชีพ ทั้งนี้ ผู้ปกครองก็ไม่ควรปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้จะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม 

2) ช่วงอายุต่ำกว่า 2 ปี  มักจมน้ำเสียชีวิตจากแหล่งน้ำภายในบ้าน เนื่องจากเด็กไม่รู้ถึงอันตรายและผู้ปกครองปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังเพียงชั่วขณะ เช่น ทำงานบ้าน คุยโทรศัพท์ เปิด-ปิดประตูบ้าน ประกอบกับมีแหล่งน้ำเสี่ยงภายในบ้าน เช่น น้ำในกะละมังซักผ้า อ่างอาบน้ำเด็ก กระถางบัว บ่อปลา แม้กระทั่งโถชักโครก เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้อย่างคาดไม่ถึง  ดังนั้นครอบครัวควรจัดการแหล่งน้ำที่เด็กสามารถเข้าถึงได้  เช่น เทน้ำทิ้งหลังจากใช้งาน  ปิดฝาโอ่งน้ำ ถังน้ำที่บรรจุน้ำไว้  ล้อมรั้วบ่อน้ำ  สร้างประตูกั้น ฯ จัดให้มีการใช้คอกกั้นเด็กหรือจัดสถานที่เล่นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก  นอกจากนี้ผู้ปกครองควรสอนเด็ก อย่าใกล้  อย่าเก็บ อย่าก้ม หมายถึง อย่าใกล้ : เมื่อเจอแหล่งน้ำอย่าเข้าไปใกล้เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ อย่าเก็บ : เมื่อเห็นสิ่งของตกลงไปในน้ำ อย่าเก็บเอง ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บให้  อย่าก้ม : อย่าก้มหรือชะโงกลงไปในโอ่งน้ำ ถังน้ำ เพราะอาจหัวทิ่มลงในภาชนะ

พญ.วรยา กล่าวทิ้งท้ายว่า  การป้องกันการจมน้ำจําเป็นต้องมีการดําเนินการทุกมาตรการ เพราะเด็กแต่ละช่วงอายุจะมีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน  รวมถึงการป้องกันตามปัจจัยพ่อ/แม่/ผู้ปกครอง/ผู้เลี้ยงดู/สิ่งแวดล้อม/สภาพเศรษฐกิจและสังคม กลยุทธ์ “ผู้ก่อการดี (Merit Maker) ป้องกันการจมน้ำ” เป็นกลยุทธ์สำคัญที่กรมควบคุมโรคได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานให้มีความครอบคลุมครบตามจำนวนเป้าหมาย  ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวทางการดําเนินงานป้องกันการจมน้ำระดับโลกที่ทุกประเทศเห็นร่วมกันว่า บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม  : ป้องกันเด็กจมน้ำ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านหรือโทรสายด่วน  กรมควบคุมโรค 1422

กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ 

Facebook : https://www.facebook.com/ dpc4saraburi


ข่าวสารอื่นๆ