สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

สคร.6 ชลบุรี เตือนประชาชน “ฝนตก น้ำขัง ระวังไข้เลือดออก”

สคร.6 ชลบุรี เตือนประชาชน “ฝนตก น้ำขัง ระวังไข้เลือดออก”

 

          ฝนเริ่มตกแล้ว... ช่วงนี้ฝนตกหลายพื้นที่ ฤดูร้อนกำลังจะไป ฤดูใหม่(ฝน)กำลังจะมา โรคที่จะมาหลังฝนตกที่มีความสำคัญและยังมีปัญหา คือ โรคไข้เลือดออก และพฤติกรรมในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกที่ยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย การใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ การคว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง การทายากันยุง การนอนกางมุ้ง ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของพวกเราทุกคน เหมือนการดำเนินชีวิตในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ต้องร่วมกันปฏิบัติจนเป็นนิสัย ...ร่วมรวมพลังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก...

 

          สถานการณ์โรคไข้เลือดออก (มกราคม - 21 เมษายน 2563) ประเทศไทยพบผู้ป่วยแล้ว 9,275 ราย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย
ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาได้แก่ กลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยพบว่า ภาคกลางมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาได้แก่ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ระยอง ระนอง อ่างทอง พิจิตร เลย ตามลำดับ ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 6 พบผู้ป่วย 1,152 ราย เสียชีวิต 2 ราย

 

           อาการสำคัญของไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงลอยประมาณ 2-7 วัน ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศา-เซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักได้โดยเฉพาะในเด็ก อาจมีอาการเลือดออกซึ่งพบบ่อยที่สุดบริเวณผิวหนัง อาจตรวจพบว่า
มีเส้นเลือดเปราะบางและแตกง่ายร่วมกับมีจุดเลือดออกเป็นจุดเล็กๆ กระจายอยู่เต็มตามแขน ขา ลำตัว และรักแร้ มีเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด และเข้าสู่ภาวะช็อกได้

 

            การป้องกันควบคุมการเกิดโรคที่สำคัญ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมาย 6 ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้านและชุมชน) 2.โรงเรียน (สถานศึกษาและสถานเลี้ยง
เด็กเล็ก) 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรมและรีสอร์ท 5.โรงงานและกลุ่มอุตสาหกรรม และ 6.โรงธรรม (วัด มัสยิด และโบสถ์) 

 

           ข้อพึงระวัง หากมีไข้สูงให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา ไม่ควรซื้อยาลดไข้ตามร้านขายยา ห้ามใช้ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด เช่น แอสไพริน ไอบูโปรเฟน เป็นต้น เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายและทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ที่ดีที่สุดคือหากมีอาการป่วยเข้าเกณฑ์ควรรีบพบแพทย์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ 3 โรค
(เก็บบ้าน เก็บน้ำ เก็บขยะ ป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย(ชิคุนกุนยา)) ให้เป็นเรื่องปกติ
ในชีวิตประจำวัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422                                                                                                                                                    

อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

  

                                                                                                                   

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ