สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

สคร.6 ชลบุรี เตือนประชาชนดูแลสุขภาพช่วงฤดูฝน  สัญญาณเตือน “โรคฉี่หนู”

การดูแลสุขภาพช่วงฤดูฝน  สัญญาณเตือน “โรคฉี่หนู”

ในช่วงฤดูฝนสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เชื้อโรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตามมามากมาย สาเหตุมาจากน้ำฝนที่ไหลผ่านบริเวณที่มีเชื้อโรค ทำให้เชื้อเหล่านั้นเกิดการกระจายสู่สิ่งแวดล้อม โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เป็นกลุ่มโรคที่มีความสำคัญและมีการแพร่กระจายในช่วงที่มีฝนตกและน้ำท่วมขัง

      โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า เชื้อเลปโตสไปร่า (Leptospira) เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือโดยการไชเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งมักจะระบาดหน้าฝนและโดยเฉพาะหลังน้ำลด พบผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในเกษตรกร ที่ต้องเดินลุยน้ำ มีน้ำขัง หรือพื้นดินชื้นแฉะที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย หมู หมา แพะ หนู รวมทั้งผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์/โรงฆ่าสัตว์/ผู้ที่ชำแหละสัตว์ที่มีเชื้อโรคฉี่หนู ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคนี้

      โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู สถานการณ์ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 466 ราย เสียชีวิต 5 ราย ในเขตสุขภาพที่ 6 พบผู้ป่วย 8 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต จังหวัดที่พบผู้ป่วยที่จังหวัดจันทบุรี 4 ราย ระยอง 3 ราย และฉะเชิงเทรา 1 ราย

      นางรวิสรา จิรโรจน์วัฒน รองผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี กล่าวถึงอาการของโรคฉี่หนู จะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเจ็บกล้ามเนื้อที่โคนขาและน่องอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ตาแดง บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปนหรือตัวเหลืองตาเหลือง มีเลือดออกในปอด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับวาย ไตวาย และเสียชีวิตได้

      การป้องกันโรคฉี่หนู ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีน้ำขัง เนื่องจากหนู หมู วัว และควายอาจจะมาปัสสาวะไว้ ทำให้มีปริมาณเชื้อเข้มข้น หลีกเลี่ยงการลุยน้ำที่ท่วมขังหรือโคลน พื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วน หากต้องเดินย่ำน้ำตามตรอก ซอก ซอย คันนา ท้องนา ท้องไร่ ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือ หรือชุดป้องกัน สำหรับเกษตรกรผู้สัมผัสมูลสัตว์ หรือสิ่งสกปรกควรล้างมือ ล้างเท้า อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จจากการทำงาน นอกจากนี้ยังต้องรักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน กำจัดขยะเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด อย่าให้หนูปัสสาวะใส่ ดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน รีบล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ ภายหลังจับต้องเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ และสัตว์ทุกชนิด

      “หากมีอาการไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่อง หลังจากสัมผัสพื้นที่น้ำขัง ดินที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย หมู หมา แพะ หนู หรือผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์/โรงฆ่าสัตว์ หากสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อโรคฉี่หนู ให้สงสัยว่าเป็นโรค เลปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู) อย่าซื้อยามารับประทานเอง ควรไปพบแพทย์ทันที”            นางรวิสรา กล่าว

      หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันหรือการดูแลผู้ป่วยโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมโรค

 


ข่าวสารอื่นๆ