สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

รอบรู้เรื่องโรคและภัยสุขภาพ : ร่วมรณรงค์วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (World Rabies Day)

ร่วมรณรงค์วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day)

         โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อจากไวรัส ซึ่งติดต่อจากสัตว์มาสู่คนที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุด คนหรือสัตว์ที่มีอาการของโรคจะเสียชีวิตทุกราย โรคนี้พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค กระบือ สุกร หนู ลิง ชะนี กระต่าย ค้างคาว ฯลฯ ซึ่งในประเทศไทยสัตว์พาหะนำโรคที่สำคัญ คือ สุนัขและแมว ติดเชื้อได้จากการสัมผัสโรคโดยรับเชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคทางบาดแผลจากการถูกกัด ข่วน หรือเลีย และทางเยื่อเมือกในตาและปากเมื่อถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย ข้อมูลสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี 2563 (1 ม.ค. – 31 ส.ค.) มีผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย พบที่สระแก้ว 1 ราย และหนองคาย 1 ราย แม้จ ะมีแนวโน้มของผู้เสียชีวิตจะลดลง แต่พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเสี่ยงของโรคมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การเฝ้าระวังและป้องกันโรคยังเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากผู้สัมผัสโรคมีอาการจะเสียชีวิตทุกราย 
        เมื่อคนติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 2-8 สัปดาห์ แต่อาจจะสั้นเพียง 7 วัน หรือยาวนานกว่า 1 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของแผล อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคนแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเริ่มต้น อาการจะไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาการเจ็บคล้ายโดนเข็มทิ่ม หรือคันบริเวณที่โดนกัด ต่อมาจะเข้าสู่ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน กระสับกระส่าย กลืนลำบาก รวมถึงไวต่อแสงกลัวลมกลัวน้ำ อาการจะมีมากขึ้นหากมีเสียงดังหรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นจะมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะสุดท้ายผู้ป่วยอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิต วิธีสังเกตอาการของสุนัขที่ติดเชื้อมี 2 แบบ คือ อาการแบบดุร้ายก้าวร้าวกว่าปกติ หงุดหงิด วิ่งไล่กัด และอาการแบบซึม โดยจะเซื่องซึมกว่าปกติ ดูอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
นางรวิสรา จิรโรจน์วัฒน รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี กล่าวว่า วันที่ 28 กันยายนของทุกปี    เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก หรือ World Rabies Day จัดขึ้นเพื่อรณรงค์การป้องควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ให้ความรู้ และสร้างความตระหนักของประชาชน เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้ายังเป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะโรคนี้ผู้ป่วยที่แสดงอาการแล้วต้องเสียชีวิต     ทุกราย ดังนั้นเมื่อโดนสัตว์กัดข่วนหรือเลียบาดแผล ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง โดยต้องล้างเบา ๆ แต่ให้ลึกถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที จากนั้นเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเบตาดีน และรีบไปพบแพทย์ทันที ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจรครบตามแพทย์สั่ง กักสุนัข/แมวที่กัดเพื่อดูอาการ อย่างน้อย 10 วัน ส่วนประชาชนที่เลี้ยงสุนัขและแมวต้องมีความรับผิดชอบ โดยการนำสัตว์เลี้ยงทุกตัวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี ควรมีการคุมกำเนิดเพื่อไม่ให้มีสุนัขและแมวมากเกินไป สำหรับการป้องกันตัวเองของประชาชนสามารถทำได้โดยยึดหลัก 5 ย. คือ อย่าแหย่สุนัขให้โมโห อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบจานข้าวหรือย้ายอาหาร ขณะสุนัขกำลังกินอาหาร และอย่ายุ่งหรือเข้าใกล้สุนัขที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ เน้นย้ำว่าเมื่อโดนสุนัขข่วนหรือกัด ต้องล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบเข็มอย่างเคร่งครัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


                                                                                          อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมโรค / สำนักโรคติดต่อทั่วไป

 


ข่าวสารอื่นๆ