สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

1 ธันวาคม วันเอดส์โลก สคร.6 ชลบุรี ร่วมยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์ “End inequalities. End AIDS. End pandemics.”

1 ธันวาคม วันเอดส์โลก สคร.6 ชลบุรี ร่วมยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์

“End inequalities. End AIDS. End pandemics.”

 

เอดส์นับว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมต่อทุกประเทศทั่วโลกมาอย่างยาวนาน อีกทั้งในช่วงปีที่ผ่านมาได้เกิดวิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นการตอกย้ำผลกระทบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในการป้องกันควบคุมโรคต่างๆ รวมถึงโรคเอดส์    

       จากรายงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่า ในปี 2563 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกสะสม 37.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 1.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ 680,000 คน เพื่อให้เกิดการรณรงค์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้ วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) โดยในปีนี้ UNAIDS ได้กำหนดธีมรณรงค์ คือ End inequalities. End AIDS. End pandemics.: ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์”

      สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เขตพื้นที่สุขภาพที่ 6 พบว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก ปี 2563  มีอัตราป่วย 55.5 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยกลุ่มอายุ 15-24 ปี (ช่วงวัยรุ่น) มีอัตราป่วยสูงที่สุดถึง 114.3 ต่อประชากรแสนคน โดยโรคซิฟิลิสมีอัตราป่วยสูงที่สุด เป็น 109.8 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าภาพรวมของประเทศ ซึ่งสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สูงขึ้น จะแสดงถึงแนวโน้มการติดเชื้อเอชไอวีที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

      เอชไอวี HIV (Human Immunodeficiency Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของคน คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์ (CD4 cells) หรือ      ทีเซลล์ (T cells) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อ เมื่อเชื้อไวรัส HIV ทำลายเม็ดเลือดขาว CD4 จนมีปริมาณไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง

     เอชไอวี คือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งย่อมากจาก (Acquired Immunodeficiency Syndrome) ซึ่งเอชไอวี และโรคเอดส์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคเอดส์เสมอไป หากมีการติดเชื้อเอชไอวี เชื้อจะอยู่ในร่างกายตลอดไป ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาด แต่ในปัจจุบันจะมียาต้านไวรัส ผู้ติดเชื้อกินยาเร็ว กินยาต่อเนื่อง สม่ำเสมอ สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นระยะเวลายาวนาน และช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสนี้ไปยังผู้อื่นด้วย

      สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปในการดูแลสุขภาพตัวเอง ให้ห่างไกลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์  เมื่อพบว่ามีโอกาสเสี่ยงหรือได้ประเมินพฤติกรรมเสี่ยง ควรตรวจเลือด  เพื่อหาการติดเชื้อHIV ตามสิทธิประโยชน์ประชาชนคนไทย ที่มีเลข 13 หลัก สามารถตรวจฟรีปีละ 2 ครั้ง เมื่อผลเลือดเป็นบวก สามารถเข้าสู่การรักษาได้ทันทีตามนโยบายAnny CD4 และสามารถรับยาต้านไวรัสได้ทันทีโดยไม่คำนึงถึงผล CD4 จนสามารถกดเชื้อไวรัสได้สำเร็จ ตามหลักการเมื่อตรวจไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ (U=U : Undetectable=Untransmittable) คือเมื่อกดเชื้อไวรัสได้น้อยกว่า 200 copies ต่อซีซี จะทำให้ไม่แพร่ไปสู่ผู้อื่น แต่ถ้าผลเลือดเป็นลบ ให้Retain negative คงสถานะเป็นลบ โดยให้ความรู้ สร้างความตระหนักต่อการป้องกันตนเอง โดยใช้ถุงยางอนามัย หรือ เสนอการรับยาPrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เพื่อป้องกันตนเองก่อนการรับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย  เชื้อเอชไอวี ไม่ติดต่อผ่านน้ำลาย ดังนั้นคุณจะไม่ติดเชื้อเอชไอวี ผ่าน     การจูบ การกินอาหารหรือน้ำดื่มร่วมกัน หรือ การใช้ช้อนส้อมร่วมกัน รวมไปถึงการกอด การจับมือ การไอ การจาม การใช้ห้องน้ำร่วมกัน       ก็ไม่ใช่ช่องทางติดต่อของเชื้อเอชไอวี

    “End inequalities. End AIDS. End pandemics.: ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์”  การยุติความเหลื่อมล้ำ เป็นหัวใจสำคัญในการรับมือและแก้ไขปัญหาเอดส์ ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า “เอดส์เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” และไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ผู้มีเชื้อเอชไอวี มีสิทธิ เสรีภาพ ในการดำรงชีวิต ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม ผู้มีเชื้อเอชไอวีสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างเป็นมิตรและสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งจะนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์และก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ต่อไป                                                                   

 ข้อมูลอ้างอิงโดย กองเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ /

ศูนย์พัทยารักษ์ สคร.6 ชลบุรี

 


ข่าวสารอื่นๆ