สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

หมอเตือน !! “กินยาแล้วง่วง” อย่าประมาท! เตือนหลีกเลี่ยงขับรถขณะใช้ยา เสี่ยงอุบัติเหตุถึงชีวิต

 

               สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เตือนประชาชน “อาการง่วงซึมจากยา” ไม่ใช่เรื่องเล็ก โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางหรือขับขี่ยานพาหนะเป็นประจำ หากใช้ยาโดยไม่ระวัง อาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากการหลับใน มึนงง หรือสั่งการร่างกายได้ช้าลงจากฤทธิ์ยาได้

          นายแพทย์หิรัญวุฒิ แพร่คุณธรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเดินทางจำนวนมาก หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนคือ “การหลับใน” ซึ่งในหลายกรณีเกิดจากการใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทหรือทำให้ง่วงซึม โดยเฉพาะกลุ่มยาที่ประชาชนอาจใช้เป็นประจำ เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ หรือยาคลายกล้ามเนื้อ จึงขอแนะนำประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรขณะฤทธิ์ยายังอยู่ในร่างกาย เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการง่วงหลับในได้ นอกจากยาที่ทำให้ง่วงซึม ยังมียาบางกลุ่มที่ส่งผลต่อร่างกาย เช่น อ่อนเพลีย หน้ามืด วูบ หรือรบกวนการมองเห็น ซึ่งล้วนเพิ่มความเสี่ยงในการขับขี่ยานพาหนะ

กลุ่มยาที่ควรหลีกเลี่ยงขณะขับรถ ได้แก่:

  1. ยาแก้แพ้ / ยาแก้เมารถ (Antihistamines) เช่น คลอเฟนิรามีน ซึ่งอาจพบในยาน้ำแก้แพ้หรือยาเม็ดแก้หวัด มีฤทธิ์กดประสาท    ทำให้ง่วง มึน มองไม่ชัด ห้ามใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์หรือยากล่อมประสาท
  2. ยาคลายเครียด / ยานอนหลับ / ยาจิตเวช เช่น ไดอะซีแพม หรือ อัลพาโซแลม ทำให้หลับลึก ซึมมาก และประสิทธิภาพในการตัดสินใจลดลง ไม่ควรขับรถเด็ดขาด
  3. ยาแก้ปวดที่มีอนุพันธ์ของฝิ่น เช่น ทรามาดอล (Tramadol) ทำให้ใจสั่น มึนงง ง่วง หรือกดศูนย์หายใจ อาจเกิดประสาทหลอนหรือชักได้
  4. ยาแก้ไอที่มีโคเดอีน เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ส่งผลให้ง่วง คลื่นไส้ อาเจียน ขับรถเสี่ยงหลับในหรือหมดสติ
  5. ยาคลายกล้ามเนื้อ ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควบคุมแขนขาได้ ไม่ดี อาจเกิดอุบัติเหตุได้โดยไม่รู้ตัว
  6. ยาอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการขับขี่ เช่น ยาโรคเบาหวาน ยาลดความดัน ยาหยอดตา หรือยาลดหัวใจเต้นผิดจังหวะ บางชนิดทำให้หน้ามืด พร่ามัว หรือวูบกะทันหัน

คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา:

  • อ่านฉลากก่อนใช้ยาหากพบคำเตือน เช่น “ยานี้ทำให้ง่วงซึม ไม่ควรขับขี่หรือทำงานกับเครื่องจักร” ควรหลีกเลี่ยงการใช้ก่อนเดินทาง
  • อย่าใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการง่วงหรือหมดสติอย่างรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงขับรถหลังหยอดตาโดยเฉพาะยาที่ทำให้ตาพร่ามัว แม้เพียงชั่วคราวก็อันตรายได้
  • หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนขับรถ เช่น เบาหวาน ความดันสูง เพราะยาอาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลียหรือวูบ

เพื่อความปลอดภัย:

ควรเลือกซื้อยาจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต มีเภสัชกรให้คำแนะนำการใช้ยาอย่างถูกต้อง และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากยา สามารถติดต่อสอบถามได้ที่: ???? สายด่วน อย. โทร 1556

???? สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

เพราะ “ยา” แม้จะรักษาโรคได้ แต่ถ้าใช้ผิดเวลา โดยเฉพาะก่อนขับรถ อาจทำให้ชีวิตคุณและคนอื่นตกอยู่ในอันตรายโดยไม่รู้ตัว


 

*********************

ข้อมูลจาก : STAG สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น / หมอพร้อม

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

โทร 043-222818-9  ต่อ 601

ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น

หมายเลข 043-222818-9  ต่อ 237 งานกฎหมาย


ข่าวสารอื่นๆ