สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

ทะลุ 1 หมื่นรายแล้ว ไข้เลือดออก ภัยร้าย ใกล้ตัว ใกล้เด็กเล็ก

ทะลุ 1 หมื่นรายแล้ว ไข้เลือดออก ภัยร้าย ใกล้ตัว ใกล้เด็กเล็ก

 

เข้าสู่ต้นฤดูฝน โรคที่เราต้องเผชิญ อีกหนึ่งโรค ก็คือโรคไข้เลือดออก ซึ่งเกิดขึ้นทุกปีและปีนี้  ปี 2563 จากสถานการณ์ไข้เลือดออกเดือนมกราคม – เดือนพฤษภาคม ระยะเวลา เดือน  ประเทศไทย  มีรายงาน  ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกถึง 10,938 ราย มีผู้เสียชีวิต 9 รายและ มีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติ ผู้ป่วยและ เสียชีวิตจากปี 2557-2560 ปีที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือปี 2558    มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก  จำนวน 21,232 ราย

 

เสียชีวิต 11 ราย อัตราการป่วยต่อแสนประชากร เป็น 32.6 อัตราการป่วยตายคิดเป็นร้อยละ 0.05 และปี 2561 มีผู้ป่วยไข้เลือดออก 14,193 ราย เสียชีวิต 19 ราย อัตราการป่วยต่อแสนประชากร ร้อยละ  22.74 อัตราการป่วยตายคิดเป็นร้อยละ 0.13 ปี2562 มีผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวน 26,430 ราย เสียชีวิต 40 ราย  อัตราการป่วยต่อแสนประชากรร้อยละ  40.01 อัตราการป่วยตายคิดเป็นร้อยละ 0.15 (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เราทุกคนต้องช่วยกันป้องกันยุงลายแพร่เชื้อโดยการตัดวงจรยุงลายโดยใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคจากกรมควบคุมโรคต่อไปนี้

          มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ

  1. 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
  2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

 

 โรคไข้เลือดออกมีอาการดังนี้

          อาการของโรคไข้เลือดออกนั้น จะแตกต่างจากไข้อื่นๆที่สังเกตได้ คือ มีไข้สูงมากนานเกิน 3 วัน  ตาแดง  ปวดศีรษะ บางรายมีอาการปวดรอบกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีผื่นแดงตามตัว ซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง มีอาเจียนร่วมด้วย และโรคไข้เลือดออกจะรุนแรงมากถ้าเกิดในเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปี ดังนั้นคุณแม่มือใหม่ที่เลี้ยงดูลูกเองที่บ้านควรทำตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น เพื่อความปลอดภัยของเด็กเล็กด้วย

ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคไข้เลือดออก เราจะดูแลอย่างไร ?

การดูแลผู้ป่วยที่บ้านนั้นก็สำคัญมากการดูแลก็สามารถใช้วิธีปฏิบัติง่ายๆ คือ การเช็ดตัวให้ผู้ป่วยไม่ให้ตัวร้อนจัด ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนและอาหารที่ทำให้ร่างกายสดชื่น เช่น น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ และพักผ่อนมากๆ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง หรือหากจำเป็นต้องซื้อเอง  ห้ามรับประทานยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกตามอวัยวะภายใน อันตรายถึงแก่ชีวิตได้  และที่สำคัญต้องคอยเฝ้าสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอยู่เสมอ หากพบว่าผู้ป่วยซึมลง อ่อนเพลียมาก กินและดื่มไม่ได้ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องกะทันหัน หรืออาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์อีกครั้งโดยเร็วที่สุด การรู้ทันไข้เลือดออก สามารถลดการเสียชีวิตได้

 

 

ผู้รวบรวม นางสาวสุภัทรา  พิมหานาม กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

ที่มา :

tapana kamta,(2556).วิธีดูแลตัวเองไข้เลือดออกสำคัญที่สุดคือช่วงไข้ลด.สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2563.จากhttps://www.thaihealth.or.th

          https://news.thaipbs.or.th/content/292280

         https://ddc.moph.go.th/

 


ข่าวสารอื่นๆ