สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

แพทย์แนะครู ผู้ปกครอง คัดกรองสุขภาพเด็กทุกวันก่อนเข้าเรียน สกัดโรคมือ เท้า ปาก  

สคร. ๗ ขอนแก่นแนะครู ผู้ปกครอง คัดกรองสุขภาพเด็กทุกวันก่อนเข้าเรียน สกัดโรคมือ เท้า ปาก  

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น เน้นย้ำถึงผู้ปกครองและครูหมั่นตรวจสุขภาพเด็กก่อนเข้าเรียนทุกวัน หากพบอาการไข้ต่ำๆ เบื่ออาหารมีตุ่มพองใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า กระพุ้งแก้ม ให้สงสัยป่วยด้วยโรค มือ เท้า ปาก อันเกิดจากเชื้อไวรัส พร้อมส่งเสริมสุขอนามัยส่วนบุคคลหวังเป็นเกราะป้องกันป่วย

นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร  ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก ในประเทศไทย ณ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ได้รับรายงานผู้ป่วย รวมทั้งสิ้น 20,539 ราย ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ ๗  พบอัตราป่วยสูงสุดที่จังหวัดร้อยเอ็ด รองลงมาคือ ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ตามลำดับ พบมากในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า ๔  ปี เมื่อพิจารณาการระบาด   พบว่า มีการระบาดเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา    โรคมือ เท้า ปาก เป็นกลุ่มอาการหนึ่งของโรคติดเชื้อ คอกซากี (Coxsackie)   หรือ เอนเทอโรไวรัส  พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี  โดยเฉพาะสถานที่ที่พักอาศัยอยู่รวมกัน  โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากแผลตุ่มพอง หรืออุจจาระของผู้ป่วย และอาจเกิดจากการไอจามรดกัน ติดต่อกันได้ง่ายโดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรก ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีอาการทุเลาลงแล้วก็อาจแพร่เชื้อได้เนื่องจากเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระได้นาน ๖-๘ สัปดาห์   โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้เจ็บแผลในปาก ควรให้ผู้ป่วยนอนพักมากๆ เช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ไม่ร้อนจัด ดื่มน้ำ นม และผลไม้แช่เย็น เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนม แทนการดูดจากขวด และควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีไข้สูง ซึม ไม่ยอมดื่มนมหรือทานอาหาร อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที

นายแพทย์ธีรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ในด้านการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก นั้นต้องอาศัยความร่วมมือของสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาล และศูนย์เด็ก ให้ปฏิบัติตามมาตรการ ดังนี้ ๑. ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันทุกคนในตอนเช้า ๒. แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติขณะรอผู้ปกครองรับกลับ ๓. หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กป่วยเล่นคลุกคลีกับเด็กปกติและเมื่อป่วยควรพักรักษาอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายป่วย ๔. ให้เด็กล้างมือบ่อยๆหรือทุกครั้งที่สัมผัสกับสิ่งสกปรกก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องส้วม ก่อนและหลังทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ๕. ทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น ภายในศูนย์ฯ และโรงเรียนเป็นประจำทุกวันสำหรับของใช้ส่วนตัว และทุกสัปดาห์สำหรับอุปกรณ์ในห้องเรียนหรือทุกครั้งที่พบมีเด็กป่วย ๖. หากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที ส่วนในกรณีที่เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดหากพบตุ่มในปากโดยยังไม่มีอาการอื่น ให้เด็กหยุดเรียนอยู่บ้านได้เลยและหากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมากโดยพบว่าป่วยตั้งแต่ ๒ รายภายใน1สัปดาห์ ควรพิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วย หรือปิดโรงเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก กรณีมีเด็กป่วยมากกว่า ๑ ห้องเรียนภายใน ๑ สัปดาห์  จัดบริเวณล้างมือให้สะดวกและเพียงพอ เพื่อให้นักเรียนได้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องส้วม ควรเพิ่มเติมความรู้เรื่องโรคและการป้องกันตนเอง เช่น การล้างมือและการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ให้แก่เด็กทุกชั้นเรียน เร่งเผยแพร่คำแนะนำ ความรู้เรื่องโรคมือ เท้า ปาก แก่ผู้ปกครอง และคัดกรองสุขภาพเด็กก่อนเข้าเรียนทุกวัน ผู้ปกครองควรส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีส่วนบุคคลแก่บุตรหลานและผู้ดูแลเด็ก โดยเฉพาะการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหาร หรือก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย นอกจากนั้นควรให้เด็กอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี ไม่พาเด็กเล็กไปในที่แออัด จัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ของเด็กแยกเป็นรายบุคคล ไม่ให้ใช้ปะปนกัน  เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ  แปรงสีฟัน ช้อนซ้อม ผ้าห่ม เครื่องนอน และให้ความร่วมมือในการแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ(แยกเล่น แยกนอน แยกกิน)  ไม่นำเด็กป่วยมาศูนย์เมื่ออาการดีขึ้นควรรอให้หายเป็นปกติก่อน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.๑๔๒๒

 

“ล้างมือบ่อยครั้ง ช่วยยับยั้งโรคมือเท้าปาก”

 

แหล่งข้อมูล  เอกสารอ้างอิง :   แนวทางการดูแลรักษาโรคมือ เท้า ปาก กรมการแพทย์/กลุ่มระบาดวิทยาฯ สคร.๗ ขอนแก่น

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น

ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จ.ขอนแก่น

หมายเลข ๐๔๓-๒๒๒๘๑๘-๙ ต่อ ๖๑๑

https://ddc.moph.go.th/odpc7/index.php  

https://www.facebook.com/dpckk


ข่าวสารอื่นๆ