สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

สธ. เผยสมัชชาสหประชาชาติ เรียกร้องนานาชาติแก้ปัญหาการจมน้ำทั่วโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 193 ประเทศรัฐสมาชิกที่ให้การรับรองข้อมติของสหประชาชาติ

สธ. เผยสมัชชาสหประชาชาติ เรียกร้องนานาชาติแก้ปัญหาการจมน้ำทั่วโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 193 ประเทศรัฐสมาชิกที่ให้การรับรองข้อมติของสหประชาชาติ

 

          กระทรวงสาธารณสุข เผยสมัชชาสหประชาชาติ เรียกร้องนานาชาติแก้ปัญหาการจมน้ำทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 193 ประเทศรัฐสมาชิกที่ให้การรับรองข้อมติของสหประชาชาติ ซึ่งนับเป็นฉันทามติร่วมกันในเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และกำหนดให้ 25 กรกฎาคมของทุกปี เป็น“วันป้องกันการจมน้ำโลก” สำหรับประเทศไทย ทุกภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องกว่า 15 ปีแล้ว ทำให้การเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กไทยลดลงถึงร้อยละ 64.6

          วันนี้ (17 พฤษภาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ หรือ UNGA เมื่อ 28 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการนำประเด็นเกี่ยวกับการป้องกันการจมน้ำมาหารือร่วมกัน เนื่องจากการจมน้ำยังเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการนำประเด็นดังกล่าวมาหารือในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 193 ประเทศรัฐสมาชิกที่ให้การรับรองข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งนับเป็นฉันทามติร่วมกันในเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ รวมทั้งได้กำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปี เป็น“วันป้องกันการจมน้ำโลก” หรือ"World Drowning Prevention Day"ด้วย

          นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สมัชชาสหประชาชาติ ได้กระตุ้นให้นานาประเทศให้ความสำคัญและมีมาตรการเพื่อป้องกันการจมน้ำของประชาชนในแต่ละประเทศ  เนื่องจากการจมน้ำเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตกว่า 2.5 ล้านคนทั่วโลกตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และกว่าร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตจากการจมน้ำ อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง  และเน้นย้ำว่าปัญหาการจมน้ำนั้นเป็นสิ่งที่ “ป้องกันได้” ด้วยการดำเนินงานโดยใช้ต้นทุนต่ำ พร้อมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติพิจารณามาตรการความปลอดภัยทางน้ำ ทั้งการส่งเสริมการให้ความรู้ และการฝึกทักษะการว่ายน้ำและการช่วยเหลือคนจมน้ำเบื้องต้น โดยการบรรจุหลักสูตรที่มีการสอนทักษะเหล่านี้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือหลักสูตรแกนกลางหลักของในแต่ละประเทศ และสนับสนุนให้แต่ละประเทศให้ความสำคัญต่อการป้องกันการจมน้ำ  ด้วยการจัดทำโครงการและมาตรการป้องกันต่างๆ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยทางน้ำอย่างจริงจัง 

          ทั้งนี้ ข้อมูลของสหประชาชาติ พบว่ากลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกามีอัตราการจมน้ำสูงที่สุดในโลก ขณะที่เอเชียมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุดในโลก ทางสหประชาชาติเห็นว่าการจมน้ำถือเป็นประเด็นด้านความเสมอภาคทางสังคม จากการที่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ชนบทเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เสมอภาคนี้ และในหลายประเทศการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของเด็กและเยาวชนในประเทศเหล่านั้น โดยการจมน้ำยังอยู่ใน 10 อันดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กอายุ 5-14 ปีทั่วทุกมุมโลกด้วยเช่นกัน

          ด้านนายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญและดำเนินการเรื่องการจมน้ำของเด็ก ตั้งแต่ปลายปี 2549 ซึ่งพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1,500 คน และเป็นปัญหาการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทย มากกว่าการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ โดยได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการต่างๆ  มาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เช่น การให้ความรู้ในสถานบริการสาธารณสุข การจัดทำหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด การกำหนดให้เสาร์แรกของเดือนมีนาคมเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำและจัดกิจกรรมรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องทุกปี การผลักดันให้เกิดฉลากคำเตือนบนอ่างอาบน้ำเด็ก และการสื่อสารประชาสัมพันธ์

          นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดกลยุทธ์การสร้างทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อป้องกันการจมน้ำ การบูรณาการให้เรื่องการป้องกันการจมน้ำอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งมาตรการที่ดำเนินการในประเทศไทยสอดคล้องกับมติของสหประชาชาติ และจากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในปีล่าสุด (ปี 2563) มีเด็กไทยจมน้ำเสียชีวิต 531 คน ซึ่งลดลงจากก่อนเริ่มดำเนินการถึงร้อยละ 64.6  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

**************************

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 17 พฤษภาคม 2564


ข่าวสารอื่นๆ