สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

หมอเตือนภัยจากการจมน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่น้ำหลาก ควรงดลงน้ำหาปลา เด็ก และผู้สูงวัยให้ระวัง!!

 

          จากรายงานแจ้งเตือนภัยสาธารณะ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประเมินสภาพอากาศในช่วงวันที่ 11-14 กันยายน 2564 ว่าจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดหนองคาย บึงกาฬหนองบัวลำภู ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ย้ำให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเมือง อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังระยะสั้น พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก  พื้นที่ริมลำน้ำ อาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมในระดับสูง ให้ระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษ อันตรายจากกระแสฟ้า และงดลงน้ำจับปลาในบริเวณน้ำลึกไหลเชี่ยว

นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวเตือนภัยประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม มีน้ำไหลหลากให้ระมัดระวังอันตรายจากการจมน้ำเสียชีวิต กลุ่มเสี่ยงพบได้ทุกช่วงวัย พฤติกรรมเสี่ยงคือการออกเก็บผัก หาปลา ลงเล่นน้ำ หรือสัญจรทางน้ำ ซึ่งข้อมูลรายงานการเสียชีวิตจากการจมน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบสาเหตุการเสียชีวิตได้ 4 รูปแบบ คือ 1) การพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำจากบริเวณบ้าน ชุมชน  2) การสัญจรทางน้ำโดยเรือแบบต่าง ๆ    หรือสัญจรโดยการเดิน หรือใช้ยานพาหนะผ่านบริเวณน้ำไหลเชี่ยว 3) การลงไปจับสัตว์น้ำ เก็บพืชน้ำ เพื่อนำมาบริโภค  และ 4) การเสียชีวิตจากการร่วมปฏิบัติงานปกป้องหมู่บ้านชุมชน  ดังนั้นจึงขอฝากเตือนให้ประชาชนที่กำลังประสบกับอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ยึดหลักความปลอดภัยของกรมควบคุมโรค คือ “3 ห้าม 2 ให้” เพื่อป้องกันการจมน้ำในช่วงที่มีน้ำหลาก โดย 3 ห้าม ได้แก่  1.ห้ามลงเล่นน้ำ  2.ห้ามหาปลา เก็บผัก  3.ห้ามดื่มสุรา และ 2 ให้ ได้แก่ 1.ให้สวมเสื้อชูชีพ (หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วยขณะต้องลงน้ำหรือต้องสัญจรทางน้ำ เช่น ถังแกลลอน ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา ห่วงยาง ) ที่ใช้พยุงเกาะลอยตัวได้ เมื่อเกิดเหตุเรือล่มหรือน้ำพัด และ 2.ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อคอยดูแลซึ่งกันและกัน และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ห้ามแตะสวิทช์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊ก เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วทำให้ไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ 

นายแพทย์สมาน กล่าวต่อว่า “เพื่อความปลอดภัยสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ บริเวณที่มีน้ำหลาก ไม่ควรออกหาผักหาปลาและลงเล่นน้ำ เพราะเสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัด หรือตกลงไปในบริเวณที่มีน้ำลึกได้  หรือหากจำเป็นต้องออกไปในบริเวณที่มีน้ำท่วม ควรไปเป็นกลุ่ม ไม่นำเด็กไปด้วย นำอุปกรณ์ชูชีพติดตัวไปด้วย เช่น ลูกมะพร้าว, ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือกคล้อง, ขวดน้ำพลาสติกเปล่าผูกเชือกคล้อง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ใส่เสื้อผ้าหนา หนัก อุ้มน้ำ ไม่ลงจับปลาในเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการลงน้ำหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ เพราะเสี่ยงต่อการเป็นตะคริวที่ท้อง ห้ามมิให้เด็กลงเล่นน้ำ ผู้ปกครองผู้ที่ดูแลเด็ก ต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ”

สำหรับการช่วยเหลือคนที่กำลังจมน้ำที่ถูกต้อง คือ การร้องตะโกนให้คนช่วย ควรใช้อุปกรณ์ที่หาง่ายและใกล้ตัว โยนหรือยื่นให้คนตกน้ำจับ เช่น ถังแกลลอนเปล่าปิดฝา, ขวดน้ำดื่มพลาสติกเปล่าปิดฝา, ไม้, เชือก, ผ้า หากจำเป็นต้องลงไปช่วยในน้ำ ควรทำอุปกรณ์ที่สามารถลอยน้ำได้ติดตัวลงไปด้วย เพื่อยื่นให้ผู้ที่ตกน้ำ จึงดึงเข้าฝั่ง และหากสามารถช่วยขึ้นมาได้แล้ว ห้ามจับคนจมน้ำพาดบ่าแล้วกระโดดหรือวิ่งไปมา เพื่อให้น้ำออก ควรรีบตะโกนขอความช่วยเหลือ วางคนที่จมน้ำนอนราบ ตะแคงหน้า เอาน้ำออกจากปาก และควรโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือที่หมายเลข 1669 ทันที  หากหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น ให้กดกลางหน้าอก 30 ครั้งต่อการเป่าลมปาก 2 ครั้ง และควรนำส่งโรงพยาบาลทุกราย  ทั้งที่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัว หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

........................................................................

ข้อมูลจาก: กองโรคไม่ติดต่อ/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 14 กันยายน 2564

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น

http://odpc7.ddc.moph.go.th

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ [email protected]

 


ข่าวสารอื่นๆ