สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

   :   สคร.7 ขอนแก่น แนะป้องกันตนเองลดเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำ

 

 :   สคร.7 ขอนแก่น แนะป้องกันตนเองลดเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำ

 

          สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ห่วงใยประชาชนในพื้นที่เสี่ยงประสบภัยน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู และพายุดีเปรสชัน“ไลออนร็อก”ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม แนะดูแลตนเองป้องกันการเจ็บป่วยจาก3กลุ่มโรค และ3 ภัยสุขภาพที่มากับน้ำ คาดว่าในพื้นที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำท่วมขังจะยังพบรายงานผู้ป่วยโรคต่างๆเพิ่มขึ้น แนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วย และดูแลตนเองปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

           นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้แสดงความห่วงใยต่อประชาชนพื้นที่เสี่ยงว่าภายหลังอิทธิพลจากพายุหลายระรอกที่พัดผ่านประเทศไทยทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่สะสม เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนที่พักอาศัยโดยในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม) ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งสิ้น 33 อำเภอ แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์ในบางพื้นที่ระดับน้ำได้เริ่มลดลง แต่ยังพบว่าหลายอำเภอยังคงมีน้ำท่วมสูง จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ระมัดระวังและดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บที่มาจากน้ำท่วม ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ กลุ่มโรคจากการสัมผัสเชื้อก่อโรค (โรคฉี่หนู) น้ำกัดเท้า  สัตว์แมลงมีพิษกัด/ต่อย ไฟฟ้าดูดไฟฟ้าช็อต และการจมน้ำ

         นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล กล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมน้ำไหลหลาก สามารถปฏิบัติได้โดย1)ไม่ทิ้งขยะหรือขับถ่ายของเสียลงในน้ำที่ท่วมขังให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่แห้ง 2) อย่าปล่อยให้เด็กเล็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะเด็กอาจจมน้ำและช่วยเหลือไม่ทัน และอาจรับเชื้อจากน้ำที่มีสิ่งสกปรก ทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคตาแดง โรคพยาธิสตรองจีลอยด์ หรือถูกสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมากัดต่อยได้ 3)หากน้ำท่วมขังกระเด็นเข้าตาหรือมีฝุ่นละอองเข้าในตาให้ใช้น้ำสะอาด ล้างหน้าและดวงตาให้สะอาดเพื่อป้องกันโรคตาแดง 4) รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง หากเป็นอาหารปรุงสุกที่รับบริจาคมาไม่ควรเก็บไว้รับประทานนานกว่า 4 ชั่วโมง 5)หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรใส่รองเท้าบู๊ททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม และรีบทำความ สะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้งทันที 6)ให้ระมัดระวังสัตว์เลื้อยคลาน แมลงมีพิษเข้าบ้านและอาจถูกกัดหรือต่อยได้ โดยเฉพาะตู้ รองเท้า เสื้อ ผ้าเช็ดเท้า ท่อต่างๆหรือตามขอบประตู หน้าต่างของบ้าน เป็นต้น ซึ่งมักเป็นแหล่งที่พบสัตว์ดังกล่าวอาศัยอยู่ หากพบเจอสัตว์มีพิษควรตั้งสติให้ดี และเรียกผู้ชำนาญมาช่วย 7)ก่อนน้ำท่วมควรขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูงและถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านทั้งหมด ในกรณีที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมขังบ่อยๆ ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้า เพื่อแยกวงจรชั้นบนและชั้นล่าง กรณีบ้านชั้นเดียวให้งดใช้ไฟฟ้าโดยเด็ดขาด รวมถึงห้ามเปิด-ปิดสวิทซ์ไฟด้านในและด้านนอกอาคารที่อยู่อาศัย ขณะตัวเปียกหรือขณะยืนแช่น้ำ แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นอยู่เหนือระดับน้ำ 8) ระมัดระวัง และดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าให้เล่นน้ำบริเวณใกล้เสาไฟ รั้ว ประตูที่เป็นโลหะ และขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอยู่เสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 ****************************************

 

ข้อมูลจาก: กองโรคติดต่อทั่วไป/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น

ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่7 จ.ขอนแก่น

หมายเลข 043 222818-9 ต่อ 237

https://ddc.moph.go.th/odpc7/index.php

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ rinjong8@gmail.com


ข่าวสารอื่นๆ